ปัจจุบัน Disruptive technology ซึ่งก็คือนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่สร้างตลาดและมูลค่าให้กับตัวผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยี และส่งผลกระทบอย่างรุนแรง (disrupt) ต่อตลาดของผลิตภัณฑ์เดิม ซึ่งอาจจะทำให้ธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีแบบเดิมๆ ล้มหายตายจากไป ซึ่งต่างจากนวัตกรรมทั่วไปที่อาจจะเพียงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ หรือลดต้นทุนกระบวนการผลิตกำลังเป็นที่กล่าวขานกันมากเพราะหากธุรกิจใดไม่ทันได้ระวังตัวจากการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยีสมัยใหม่การล้มหายตายจากไปก็จะกลายเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น

หลายคนเลยเปรียบเปรย Disruptive Technology นี้ว่าเป็นยุคปลาเร็ว กินปลาช้า หรือปลาเร็ว ล้มปลาใหญ่

ปัจจัยดังกล่าวจึงก่อให้เกิดการตื่นตัวของการวิจัยและพัฒนา(R&D) มากขึ้นเพื่อนำไปสู่การคิดค้น ต่อยอดวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่จะต้องให้เหนือกว่าคู่แข่งและให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ในยุคดิจิทัลมากขึ้น

ในส่วนของประเทศไทยภาคธุรกิจก็มีการตื่นตัวในเรื่องนี้พอสมควรด้วยเพราะรัฐบาลเองก็กำหนดยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศภายใต้โมเดล “ประเทศไทย 4.0” ซึ่งก็มุ่งเน้นการนำนวัตกรรมมาพัฒนา และปรับใช้ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางในอนาคต

สำหรับธุรกิจไทยที่น่าจับตาล่าสุดคือบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC และ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU ซึ่งต่างก็เป็นธุรกิจยักษ์ใหญ่ไม่ธรรมดากันทั้งคู่โดยฟากของ PTTGC นั้น นับเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นครบวงจรที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นบริษัทชั้นนำในระดับภูมิภาคเอเซียแปซิฟิกทั้งขนาดและความหลากหลายของผลิตภัณฑ์

ส่วนไทยยูเนี่ยน เป็นผู้นำธุรกิจอาหารทะเลของโลกโดยเฉพาะ ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าบรรจุภาชนะชนิดต่าง ๆ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมียอดขายต่อปีมากกว่า 1.25 แสนล้านบาท

โดยเมื่อ 2 พ.ย.ทั้งสองบริษัทได้ลงนามลงนามในบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ เพื่อสร้างความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาบรรจุภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบ เพื่อใช้สำหรับผลิตภัณฑ์ของไทยยูเนี่ยน ทั้งพลาสติกที่ทำมาจาก ปิโตรเคมี (Petroleum-based) และเคมีภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม (Bio-based) เพื่อเสริมสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจอาหารทะเลของไทยยูเนี่ยน ลดต้นทุนการผลิต และสร้างนวัตกรรมที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

การศึกษาและพัฒนาของทั้งสองบริษัท จะช่วยก่อให้เกิดนวัตกรรมในเรื่องของวัสดุและบรรจุภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น ไบโอพลาสติก (bioplastics) และพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (biodegradable plastics) เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาความปลอดภัยและช่วยลดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตของไทยยูเนี่ยน

ปัจจุบัน PTTGC และ ไทยยูเนี่ยน ได้เริ่มดำเนินการในหลายโครงการไปแล้ว เช่น การร่วมพัฒนาสูตรฟิล์มพลาสติกที่สามารถลดความหนาได้ถึง 30 เปอร์เซนต์ แต่ยังมีความทนทานเทียบเท่าฟิล์มแบบเดิม เพื่อใช้ในบรรจุภัณฑ์ของ ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ตั้งแต่ปลายปี 2558

นอกจากนี้ ยังมีโครงการพัฒนาฟิล์มสำหรับปูบ่อกุ้งต้านแบคทีเรีย เพื่อบรรเทาปัญหาโรคกุ้งที่อาจเป็นสาเหตุการตายของกุ้งซึ่งในช่วงปลายปี2554 ไทยเองเริ่มประสบปัญหาโรคกุ้งตายด่วน(EMS)ระบาดเช่นหลายประเทศทั่วโลกทำให้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกกุ้งของไทยอย่างมากและแม้ว่าปัญหาดังกล่าวจะหมดลงแต่ธุรกิจกุ้งส่งออกของไทยก็มักถูกกีดกันทางการค้าเนื่องจากมีการตรวจพบโรคอยู่บ่อยครั้ง การพัฒนาฟิล์ที่เป็นพลาสติกสำหรับปูบ่อกุ้งต้านแบคทีเรียจึงนับเป็นการ ช่วยลดจำนวนสูญเสียของจำนวนกุ้ง เพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิตให้มากขึ้นแล้วยังส่งผลให้ไทยสามารถส่งออกกุ้งได้มากขึ้น

นอกเหนือจากการวิจัยและพัฒนาทางด้านผลิตภัณฑ์แล้ว ทั้งสองบริษัทยังร่วมกันสนับสนุนให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาทางนวัตกรรมInnovation Center ของ PTTGC และศูนย์นวัตกรรม Global Innovation Incubator (Gii) ของไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป เชื่อมโยงการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อตอบสนองนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 ของประเทศไทยที่จะเริ่มต้นในปีแรกอีกด้วย

โดยจะเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่ออุตสาหกรรมอาหาร และผลิตวัตถุดิบทางด้านอาหาร และอยู่ระหว่างการเตรียมพัฒนาพลาสติกใหม่ๆ ในการทำผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ โดยร่วมกับ ศิริราชพยาบาล และคาดว่าจะมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่อยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายในอนาคต

จะเห็นว่าการวิจัยและพัฒนาไม่เพียงตอบโจทย์ให้กับภาคธุรกิจที่จะเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต แต่ยังมีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ดังนั้นหากยังต้องการมีที่ยืนในเวทีโลกทุกภาคส่วนต้องตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยี 4.0

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน