นายพีระภัทร ศิริจันทโรภาส กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชาร์จ แมเนจเม้นต์ จำกัด (SHARGE) ผู้นำด้านการสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging Ecosystem) เปิดเผยว่า จากข้อมูลของแมคคินซีย์แอนด์คอมปะนี (McKinsey & Company) บริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารชั้นนำของโลก ระบุว่าภายใน 4 ปีข้างหน้า หรือปี 2568 ค่ายรถยนต์ทั่วโลกจะเปิดตัว “รถยนต์ไฟฟ้า” (Electric Vehicle: EV หรืออีวี) มากกว่า 350 รุ่น ด้วยระยะทางการขับขี่ที่ไปได้ไกลขึ้นจากปัจจุบัน

ปัจจัยดังกล่าวสนับสนุนให้รถอีวีในจีน สหภาพยุโรป และสหรัฐ เติบโตประมาณ 120 ล้านคัน ในปี 2573 ขณะเดียวกันความต้องการพลังงานในการชาร์จโดยรวมสำหรับรถอีวีก็จะเติบโตอย่างมากในช่วงปี 2563-2573 คาดเพิ่มขึ้นประมาณ 20,000-280,000 ล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง ซึ่งปัจจัยทั้ง 2 นี้จะเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ใช้รถไปจากเดิมใช้รถยนต์สันดาปภายในเติมเชื้อเพลิงที่สถานีบริการ แต่รถอีวรสามารถชาร์จไฟได้ทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน และระหว่างการเดินทาง

โดยจากการการศึกษาพฤติกรรมการชาร์จรถอีวีใน 3 ภูมิภาค คือ จีน สหภาพยุโรป และสหรัฐ พบว่าคนที่ใช้รถยนต์นั่งส่วนบุคคลส่วนใหญ่จะจอดรถไว้เป็นเวลา 8-12 ชั่วโมงในเวลากลางคืน และทำการชาร์จไฟที่บ้าน เนื่องจากเป็นเรื่องง่ายและมีต้นทุนถูกกว่าการชาร์จตามสถานที่อื่น เนื่องจากอัตราค่าไฟฟ้าในที่อยู่อาศัยมีราคาถูกกว่าไฟฟ้าเชิงพาณิชย์หรืออุตสาหกรรม และการชาร์จส่วนใหญ่อาจเกิดขึ้นในช่วงกลางคืนซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ค่าไฟฟ้าต่ำกว่าช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในแต่ละวัน

ดังนั้น คนส่วนใหญ่จึงเลือกที่ชาร์จรถที่บ้านเป็นอันดับหนึ่งด้วยสัดส่วนที่สูงถึง 75-80% รองลงมาคือจุดชาร์จตามจุดหมายปลายทางต่างๆ เช่น ที่ทำงาน และแหล่งไลฟ์สไตล์ และอันดับสุดท้ายคือการชาร์จตามสถานีที่มีจุดชาร์จให้บริการ

“มองว่าพฤติกรรมการชาร์จรถยนต์อีวีในประเทศไทยจะเติบโตไปในลักษณะเดียวกับสหรัฐ คือมีการชาร์จที่บ้านเป็นหลัก เนื่องจากโครงสร้างที่อยู่อาศัยส่วนของสหรัฐและไทย โดยส่วนใหญ่เป็นบ้านเดี่ยว แต่แนวโน้มการเติบโตของรถอีวีในไทยจะมาเร็วกว่าที่คาด เนื่องจากผู้ประกอบการในหลากหลายอุตสาหกรรมส่วนใหญ่สนับสนุนการใช้รถอีวี”

สอดคล้องกับข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) คาดการณ์ว่าภายในปี 2568 ไทยจะมีรถอีวี 138,918 คัน และหากหัวชาร์จ 1 หัว สามารถให้บริการชาร์จได้ 3 คัน เท่ากับว่าจะต้องมีหัวชาร์จเพิ่มขึ้นทั้งหมด 47,000 หัวชาร์จ จากปัจจุบันไทยมีเพียงประมาณ 1,000 หัวชาร์จ ดังนั้นหากไม่มีนโยบายเร่งสนับสนุนการเพิ่มจุดให้บริการชาร์จอาจฉุดรั้งการเติบโตของตลาดรถอีวี

อย่างไรก็ตาม หากภาครัฐเข้ามาสนับสนุนการติดตั้งเครื่องชาร์จตามบ้านด้วยการออกกฎหมายให้สามารถติดตั้งหม้อแปลงแยกสำหรับการชาร์จรถอีวีในแต่ละบ้านได้ จะช่วยแก้ปัญหาการมีที่ชาร์จอีวีไม่เพียงพอลดลง ช่วยลดปัญหาเรื่องขนาดมิเตอร์ของบ้านพักอาศัยทั่วไปจะใช้ขนาด 15 แอมป์ อาจไม่เพียงพอสำหรับชาร์จรถอีวี อีกทั้งการแยกหม้อแปลงหากคิดค่าไฟฟ้าต่ำกว่าไฟบ้านก็จะช่วยสนับสนุนให้ผู้ขับขี่หันมาใช้รถอีวีมากขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน