ผลสำรวจคนไทยผวาโควิด ฉุดดัชนีความเชื่อมั่นแทบทุกตัวดิ่งเหว ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ แนะรัฐเร่งเพิ่มเงินอัดฉีด ชี้ 2.4 แสนล้านน้อยเกินไป

คนไทยผวาโควิดฉุดความเชื่อมั่นดิ่ง – นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์ พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงผลของการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนเม.ย. 2564 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกรายการ ประกอบด้วยดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 40.3 42.9 และ 54.7 ตามลำดับ โดยปรับตัวลดลงทุกรายการเมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนมี.ค. ที่อยู่ในระดับ 42.5 45.3 และ 57.7 ตามลำดับ และดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคตอย่างมาก เพราะมีความกังวลในวิกฤตโควิด-19 รอบใหม่ในประเทศไทยและทั่วโลก ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานมีโอกาสปรับตัวแย่ลงได้ในอนาคต ซึ่งจะทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคลดลงในที่สุด

ดังนั้นการปรับตัวลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการในเดือนนี้จึงส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (CCI) ปรับตัวลดลงจากระดับ 48.5 เป็น 46.0 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 271 เดือนหรือ 22 ปี 7 เดือนนับตั้งแต่ทำการสำรวจในเดือนต.ค. 2541 เป็นต้นมา การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงย่ำแย่จากวิกฤตโควิด-19 ในประเทศไทยและทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบในเชิงลบอย่างมากต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต โดยบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้

“จากสถานการณ์ต่างๆ เห็นได้ว่าคนไทยมีความเปราะบางในทุกด้านทั้งเรื่องของค่าครองชีพ การเมือง การแก้ไขปัญหาโควิด ดังนั้นมีโอกาสสูงที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนพ.ค. จะปรับตัวลดลงต่อเนื่องหากสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่ดีขึ้นตราบใดที่การฉีดวัคซีนยังไม่ทั่วถึงเพราะผลการสำรวจในรอบนี้ชัดเจนว่าเป็นผลมาจากการระบาดของโควิดที่เกิดการล็อกดาวน์ การปิดสถานประกอบการต่างๆ ทำให้คนประชาชนใช้จ่ายน้อยกว่าการระบาดในปีก่อน เพราะประชาชนมองว่ารายได้ลดลง สภาพการจ้างงานยังมีความเสี่ยงสูงและยังไม่เห็นว่าจะมีปัจจัยที่จะทำให้ความเชื่อมั่นกลับมาเป็นบวกถือเป็นขาลง และความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจไทยหากควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ก็น่าจะถึง 4-6 แสนล้านบาท แต่ขณะนี้ยังคาดว่าความเสียหายจะยังอยู่ที่ 3-4.5 แสนล้านบาท เหมือนเดิมแต่ขอเวลาในการประเมิน 2 สัปดาห์ถึง 1 เดือนว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่โดยมองว่าในปีนี้จีดีพียังจะขยายตัว 0.0-1.5%”นายธนวรรธน์ กล่าว

ส่วนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวลดลงจากระดับ 32.9 มาอยู่ที่ 31.2 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 264 เดือนหรือ 22 ปี นับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2542 เป็นต้นมาแสดงว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันแย่มากในมุมมองของผู้บริโภค และดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตก็ปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน โดยปรับตัวลดลงจากระดับ 55.8 มาอยู่ที่ระดับ 52.9 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 271 เดือนหรือ 22 ปี 7 เดือน นับตั้งแต่ทำการสำรวจในเดือนต.ค. 2541 เป็นต้นมา และอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าปกติ (คือ 100) สะท้อนให้เห็นว่า ผู้บริโภคยังขาดความเชื่อมั่นอย่างมากเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยในอนาคต

นอกจากนี้ ในส่วนของการสำรวจใช้จ่ายของผู้บริโภคในเดือนเม.ย.นี้ยังพบว่าดัชนีความเหมาะสมในการซื้อรถยนต์คันใหม่ ซื้อบ้านหลังใหม่ การใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว การลงทุนทำธุรกิจ ก็ลดต่ำลงทุกตัว อยู่ที่ 42.5, 27.1, 35.8 และ 17.0 จากเดือนมี.ค. ที่อยู่ในระดับ 46.2, 29.9, 40.8 และ 19.7 ซึ่งต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่สำรวจมาในปี 2549 ขณะที่ภาวะทางสังคม ก็พบว่า ดัชนีความสุขในการดำเนินชีวิต ค่าครองชีพ ความเป็นเห็นปัญหายาเสพติด ความคิดเห็นทางการเมืองก็ปรับลดต่ำลงทุกตัวทั้งในปัจจุบันและอนาคต

นายธนวรรธน์ กล่าวอีกว่า รัฐบาลควรอัดฉีดเม็ดเงินผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้มากขึ้น เพราะมองว่า 2.4 แสนล้านบาทนั้นน้อยเกินไป โดยนำมาใช้ในโครงการในไตรมาส 2 จำนวน 1 แสนล้านบาท ในโครงการเราชนะ เรารักกัน และสินเชื่อต่างๆ มาตรการลดค่าน้ำ ค่าไฟ และกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่ดีมากนัก ทำให้จีดีพีไตรมาส 2 ขยายตัวต่ำลงจากเดิมที่จะขยายได้ 8-9% เหลือ 3-5% จากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อยู่ราว 3 แสนล้านบาท จึงเห็นว่าภาครัฐควรอัดฉีดเม็ดเงินลงไปอีกไม่ต่ำกว่า 2-3 แสนล้านบาท และเร่งใช้มาตรการคนละครึ่งในไตรมาส 2 นี้ และเพิ่มวงเงินจาก 3 พันล้านบาท เป็น 6 พันล้านบาท บวกกับมาตรการอื่นๆ ก็จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพื่อให้จีดีพีขยายตัวได้ในกรอบ 2.5-3%

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน