รายงานพิเศษ

กระสุนชุดสุดท้าย-เงินกู้1ล้านล้าน : การดูแลสถานการณ์โควิด-19 ของภาครัฐในขณะนี้ ออก อาการน่าเป็นห่วง แม้ประชาชนจะร่วมมือเต็มที่ แต่ยอดจำนวนผู้ติดเชื้อ-ผู้เสียชีวิต กลับทุบสถิติเพิ่มเป็นรายวัน ไม่มีท่าทีจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้เร็วๆ นี้

ขณะเดียวกันในมิติด้านกระทรวงการคลัง และการออกมาตรการด้านเศรษฐกิจ ก็ใกล้ชนกำแพงเต็มทน

หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งล่าสุด เห็นชอบมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ชุดใหญ่

ทั้งมาตรการเราชนะ ม33 เรารักกัน เยียวยาผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และมาตรการคนละครึ่ง

เห็นชอบให้ใช้เงินจากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 หรือ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท

เป็นอันตัดริบบิ้นใช้เงินกู้จากพ.ร.ก. ก้อนสุดท้าย ในปีงบประมาณ 2564 ที่เหลืออยู่อีก 2.4 แสนล้านบาท ปิดฉากการใช้เงินกู้ตาม พ.ร.ก.หมดเกลี้ยง 1 ล้านล้านบาท เม็ดเงินจำนวนนี้พอหรือไม่ที่จะเป็นหัวลากเศรษฐกิจไทยปี 2564 ให้เข้าเป้าที่กระทรวงการคลังคาดไว้ที่ 2.3%

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประเมินว่าหากมาตรการได้ผลเต็ม 100% จะมีเม็ดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจเพิ่มกว่า 4 แสนล้านบาท หรือมากกว่าที่ประมาณการไว้เดิม ส่งผลดีให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มได้อีกไม่เกิน 1%








Advertisement

รายละเอียดชุดมาตรการที่กำลังจะทยอยออกมาตั้งแต่ในช่วง พ.ค.เป็นต้นไป ประกอบด้วย

มาตรการเราชนะจำนวนกลุ่มเป้าหมายประมาณ 32.9 ล้านคน เพิ่มอีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ กรอบวงเงิน 6.7 หมื่นล้านบาท โดยให้การใช้จ่ายสิ้นสุดในวันที่ 30 มิ.ย.2564

โอนเงินให้ผู้ได้สิทธิ์สำหรับกลุ่มที่ใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และบัตรประชาชน รอบแรก 1,000 บาท ในวันที่ 21 พ.ค.2564 และอีก 1,000 บาท ในวันที่ 28 พ.ค.2564 ส่วนกลุ่มที่ใช้สิทธิ์ผ่านแอพพลิเคชั่นเป๋าตัง จะได้รับเงินรอบแรกวันที่ 20 พ.ค.2564 และงวด 27 พ.ค.2564 มาตรการ ม33 เรารักกัน จำนวนกลุ่มเป้าหมาย 9.27 ล้านคน เพิ่มวงเงินช่วยเหลือผู้ประกันตน ม.33 อีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นเวลา 2 สัปดาห์ วงเงินรวม 18,500 ล้านบาท

โดยให้ใช้จ่ายสิ้นสุดในวันที่ 30 มิ.ย.2564 โอนเงินงวดแรกในวันที่ 24 พ.ค.2564 และ งวด 31 พ.ค.2564 โดยมาตรการครอบคลุมทั้งเราชนะ 33.5 ล้านคน และมาตรการ ม.33 เรารักกัน 9.27 ล้านคน ไม่ต้องลงทะเบียนใหม่ ระบบจะโอนเงินเข้าอัตโนมัติ

จากนั้นในเดือน ก.ค.-ธ.ค.2564 จะมีมาตรการออกมา กระตุ้นอีก 1 ชุด คือ โครงการเยียวยาผู้มีบัตรสวัสดิการ แห่งรัฐ/บัตรประจำตัวประชาชน ครอบคลุม 16.15 ล้านคน ให้วงเงินสิทธิ์ไปใช้ ณ ร้านธงฟ้า ร้านค้า และผู้ให้บริการที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง เฟส 3 จำนวน 200 บาทต่อคนต่อเดือน คิดเป็น 1,200 บาทต่อคน โครงการคนละครึ่ง เฟส 3 ครอบคลุม 31 ล้านคน คนละ 3,000 บาท แบ่งเป็น ประชาชนที่อยู่ในโครงการอยู่แล้ว 15 ล้านคน และจะมีการเปิดให้ลงทะเบียนใหม่อีก 16 ล้านคน ในเดือนมิ.ย. เงื่อนไขโครงการยังเป็นเหมือนเดิม

โดยโครงการจะเริ่มตั้งแต่ ก.ค.-ธ.ค. 2564 มาตรการใหม่ ยิ่งใช้ยิ่งได้ รัฐสนับสนุน e-Voucher ค่าซื้อสินค้า ค่าอาหาร เครื่องดื่ม และบริการกับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ไม่เกิน 5 พันบาทต่อคนต่อวัน สะสมสูงสุดไม่เกิน 7 พันบาทต่อคน การใช้จ่ายจะได้รับ e-Voucher ตั้งแต่เดือน ก.ค.-ก.ย. 2564 และใช้จ่าย e-Voucher ได้ในเดือน ส.ค.-ธ.ค. 2564 ซึ่งใช้จ่ายจะดำเนินการผ่าน G-Wallet ในแอพพลิเคชั่นเป๋าตัง โดยมาตรการนี้ครอบคลุม 4 ล้านคน จากชุดมาตรการทั้งหมดกระทรวงการคลังคาดหวังว่า จะช่วยกระตุ้นการบริโภค กำลังซื้อของคนในประเทศ หลังวิกฤตโควิดระลอกใหม่ในเดือนเม.ย.จบลง น่าจะเพียงพอให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ ขยับเขยื้อนต่อไปได้

แต่ความท้าทายอยู่ที่ว่าหากมีสถานการณ์โควิดกลับมาระบาดหนักอีกครั้ง จะมีเครื่องไม้เครื่องมือ หรือชุดมาตรการอย่างไร รวมถึงเม็ดเงินที่จะใช้ในการดูแลสถานการณ์ ในเมื่อ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ถูกใช้ไปหมดแล้ว

ทางออก-ทางรอดจากนี้จะเป็นอย่างไร ในเมื่อไม่สามารถฝากผีฝากไข้ไว้กับการจัดเก็บรายได้ ทั้งในส่วนของปีงบประมาณ 2564 ที่ล่าสุด 6 เดือน จัดเก็บ รายได้ต่ำกว่าเป้าหมายไปแล้วร่วมแสนล้านบาท และ งบประมาณปี 2565 ที่มีการปรับงบประมาณรายจ่าย ลดลง 1.8 แสนล้านบาท หรือ 5.66% เพราะการจัดเก็บ รายได้ ยังหืดขึ้นคอ

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ระบุว่า แม้จะมีการกู้เงินจนครบ 1 ล้านล้านบาทแล้ว แต่สถานการณ์ด้านการคลังในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่เข้มแข็ง โดยสัดส่วนหนี้สาธารณะยังอยู่ ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ 53% ต่อจีดีพี ยังต่ำกว่ากรอบที่กำหนดไว้ 60% พอสมควร ยังถือว่ายังมีช่องว่างในการกู้เงินเพิ่มเติมได้ แต่ไม่อยากให้มองว่าแม้จะมีช่องว่างรัฐบาลก็จะดำเนินการกู้เงินทั้งหมด เพราะทุกอย่างต้องประเมินตามสถานการณ์และความจำเป็น ประเด็นดังกล่าวกลับถูกโยนหินโดยภาคเอกชน นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า ยอมรับว่าผลกระทบจากโควิดระลอกนี้รุนแรงมาก ที่สำคัญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่มีความชัดเจนในการควบคุมการระบาดของเชื้อ หากการฉีดวัคซีนล่าช้าไม่จบภาย ในไตรมาส 3/2564 นี้ มองว่าเงินกู้ที่เหลือจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ของรัฐบาลที่ใช้สำหรับเยียวยา และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนไม่น่าเพียงพอกับสถานการณ์ จึงขอยืนยัน

แนวคิดเดิมที่เคยแสดงความเห็นไว้ว่ารัฐบาลต้องกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท หรือกู้เพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาท เพื่อให้มาตรการเยียวยาครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มและผู้ประกอบการ มีส่วนช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ แนวคิดออก พ.ร.ก.กู้เพิ่มนี้กระทรวงการคลัง โดยท่าทีของ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ยังไม่ได้ปิดประตูไปเสียทีเดียว

เพียงแต่ย้ำว่าภายใต้งบประมาณปี 2564 ที่มีอยู่ทั้งเงินกู้ 2.4 แสนล้านบาท งบกลางของปีงบประมาณ 2564 ภายใต้งบกลางเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็น 99,000 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการบรรเทาโควิด-19 อีก 40,000 ล้านบาท ยังเพียงพอดูแลภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันอยู่

แต่ท้ายที่สุดแล้วหากกระทรวงการคลังและรัฐบาล ยังใช้ ท่าไม้ตายเดิม คือการแจกเงินเยียวยา ไม่ว่าจะเป็นมาตรการอะไรก็ตามในกรอบผู้ได้สิทธิ์ร่วม 30-40 ล้านคน โดยหวังจะประคับประคอง หยอดข้าวหยอดน้ำผู้ได้รับผลกระทบให้พ้นไปแบบวันต่อวัน ใช้เม็ดเงินมหาศาล

ทางออกเดียวที่มีภายใต้ข้อจำกัดปัจจุบันก็คือ การกู้ มาจ่าย เช่นเคย

ความท้าทายของกระทรวงการคลัง คือการเตรียมมาตรการเพื่อรอการระบาด ระลอกใหม่ ที่เริ่มส่งสัญญาณ แต่จะคิดทัน-คิดได้หรือไม่ ปรับให้เหมาะสมเท่าทันกับสถานการณ์ เป็นการบ้านที่ต้องกลับไปทำงานอย่างหนัก

เพราะถ้าเน้นแต่ใช้ เงินกู้ โดยหวังว่าโควิดจะจบลงโดยเร็วที่สุด ทั้งๆ ที่ตอนนี้ในไทยและทั่วโลกยังลุกลาม ไม่มีท่าทีจะยุติลงง่ายๆ

ภาพรวมเศรษฐกิจไทยและวินัยการคลังจะเป็นอย่างไร ยังยากจะจินตนาการได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน