บิ๊กคลัง รูดซิบปากเข็นกฎหมาย กู้ 7 แสนล้าน สู้โควิด ช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยให้ดีขึ้น หลังเงินกู้ 1 ล้านล้าน เหลือ 1.65 หมื่นล้าน

กรณีที่ ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 พ.ค. เห็นชอบวาระลับตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ร่างพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 อีก 7 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และออกจ่ายเยียวยาประชาชนรวมถึงผู้ประกอบการเพิ่มเติม เนื่องจากการระบาดโควิดรอบใหม่กระทบเศรษฐกิจรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเช้าวันนี้ (19 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวสอบถามกรณีดังกล่าว กับ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ถึงรายละเอียดในการเสนอ ร่าง พ.ร.ก.ดังกล่าวในเรื่องดังกล่าว โดย รมว.คลัง ภายหลังลงจากรถ ได้รีบเดินเข้าลิฟท์ที่สำนักปลัดกระทรวงการคลัง เพื่อขึ้นไปห้องทำงาน โดยปฏิเสธให้สัมภาษณ์ แต่ตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่า “คิดถึงผู้สื่อข่าว”

จากนั้น ผู้สื่อข่าวได้ไปรอสัมภาษณ์ นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) โดยคาดว่าเป็นหน่วยงานที่เตรียมเรื่อง พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติมฉบับดังกล่าว โดย นางแพตริเซีย ปฏิเสธให้สัมภาษณ์ เดินเข้าลิฟท์ และพูดกับผู้สื่อข่าวว่า “มีประชุม” โดยก่อนหน้านี้ นางแพตริเซีย ระบุเกี่ยวกับการออก พ.ร.ก.ว่า ยังไม่สามารถพูดเรื่องนี้ได้ ขอยังไม่ให้รายละเอียด

สำหรับ ความจำเป็นที่ ครม.เห็นชอบ ร่าง พ.ร.ก.กู้เงิน 7 แสนล้านบาท เนื่องจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ฉบับเดิมที่กำหนดให้มีการกู้เงินแล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ก.ย.2564 เหลือวงเงิน 1.65 หมื่นล้านบาท ขณะที่โควิดยังยืดเยื้อ

ในส่วนของประเทศไทยมีการระบาดระลอกใหม่ช่วง ม.ค.-พ.ค. แม้จะมีวัคซีนแต่ก็ไม่สามารถเป็นหลักประกันได้ว่าจะควบคุมการระบาดได้ มีการคาดว่านักท่องเที่ยวในปี 2564 เหลือ 3.2 ล้านคน ลดลงจากเดิม 5 ล้านคน โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 2.3% ต่ำจากเดิมที่ 2.8%

นอกจากนี้ การระบาดยังส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้รัฐบาลปี 2563 ต่ำกว่าประมาณการ 3.43 แสนล้านบาท โดยปี 2564 การจัดเก็บรายได้ยังคงได้รับผลกระทบ กระทรวงการคลัง จึงเห็นควรกำหนดกรอบวงเงินเพื่อรองรับสถานการณ์ไว้ไม่เกิน 7 แสนล้านบาท เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจไทยในปี 2564 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากที่ สศค.ประมาณการไว้อีก 1.5% โดยมีกรอบการใช้จ่ายคือ 1.จัดหาวัคซีน 3 หมื่นล้านบาท 2.เยียวยาผลกระทบ 4 แสนล้าน และ 3.ฟื้นฟูเศรษฐกิจอีก 2.7 แสนล้านบาท

การดำเนินการกู้เงินของรัฐบาลภายใต้ร่าง พ.ร.ก.ฉบับนี้ เมื่อรวมกับประมาณการการกู้เงินอื่นตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะแล้ว จะส่งผลให้สถานะหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ก.ย.2564 จะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 9,381,428 ล้านบาท หรือคิดเป็น 58.56% ของจีดีพี ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะที่ 60% ของจีดีพี








Advertisement

ทั้งนี้ ภายหลังจากที่ ครม.เห็นชอบร่างพ.ร.ก.ดังกล่าวแล้ว จะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาร่างกฎหมายเร่งด่วนต่อไป และมอบหมายให้ สำนักงบประมาณตั้งงบประมาณปี 2565 เพื่อชำระดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายในการกู้เงิน การออก และการจัดการตราสารหนี้ภายใต้ พ.ร.ก.ดังกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน