โควิด-19 ทุบศก.ไทยหายวับ 2.2 ล้านล้านบาท คาดหลังสถานการณ์คลี่คลายยังโตต่ำกว่า 2% จี้รับมือความเหลื่อมล้ำสูง คนจนเพิ่ม 1.5 ล้านคน

โควิดทุบเศรษฐกิจไทย – นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวสรุปในงานสัมมนาวิชาการประมาณการเศรษฐกิจระยะสั้นและภาพเศรษฐกิจไทยใน 5 ปีข้างหน้า “EEC Macroeconomic Forum” ว่า

ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564-2565 ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ จะส่งผลต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้น โดยประมาณการเศรษฐกิจปี 2564 ขยายตัวอยู่ระหว่าง 1-2%

และปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวระหว่าง 1.1-4.7% บนเงื่อนไขที่ไทยต้องเร่งฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่เป็นหลัก และมีมาตรการการคลังของภาครัฐช่วยบรรเทาเยียวยาได้ ให้ระดับหนี้สาธารณะยังอยู่ในเกณฑ์

“จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประเมินว่าทำให้รายได้ของประเทศหายไปสูงถึง 2.2 ล้านล้านบาท และเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำ เป็นชนวนสำคัญเร่งเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 จะขยายตัวต่ำกว่า 2% ต่ำกว่าช่วงปกติก่อนโควิด-19 ที่ประมาณการไว้เพียง 3-4% ซึ่งเป็นเกณฑ์ต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น”

ทั้งนี้ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับ 13 ในปี 2565 ที่ต้องการให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวจาก 2.5% เป็น 4.5% จำเป็นต้องเกิดการลงทุนเพิ่มปีละ 6 แสนล้านบาท ซึ่งมีข้อจำกัดแหล่งเงินในการสนับสนุนลงทุนในประเทศ และภาครัฐไม่สามารถก่อหนี้เพิ่มได้อีก จึงจำเป็นต้องพิจารณาแหล่งเงินอื่น

เช่น สภาพคล่องส่วนเกินที่มีในระบบ และการเร่งดึงเงินลงทุนจากภาคเอกชน และต่างประเทศ โดยเงินลงทุนในระยะยาวของประเทศต้องดำเนินการอย่างมีระบบในพื้นที่เป้าหมายที่มีศักยภาพ และจัดลำดับความสำคัญที่ชัดเจน

นายพงศ์นคร โภชากรณ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า โจทย์สำคัญที่ไทยต้องเผชิญหลังโควิด-19 คลี่คลาย คือ การเติบโตที่ไม่สมดุลเชิงพื้นที่

จากความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นก่อนโควิด-19 เมืองหลักที่เป็นเมืองเศรษฐกิจมีเพียง 15 จังหวัด คิดเป็น 70% ของจีดีพีเมืองรองยังคงเป็นจังหวัดที่ยากจน โดยโควิด-19 ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานกลับด้าน (Reverse trend) ย้ายออกเพราะตกงาน และย้ายเข้าเมืองหลวง เพื่อหางานทำ

ความยากจนเหลื่อมล้ำเรื้อรัง เพราะโควิด-19 ทำให้คนจนเพิ่มขึ้นทั่วโลก 15 ล้านคน เป็นคนไทย 1.5 ล้านคนจากฐานคนจนเดิม 4.3 ล้านคน ส่งให้ผลคนจนในไทยเพิ่มขึ้นรวม 5.8 ล้านคน เท่ากับจำนวนคนจนปี 2559

และโจทย์สุดท้ายคือการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ จากปัจจุบันไทยมี 30 จังหวัด ที่เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแล้วโดยสหประชาชาติประเมินว่า ในปีหน้า 2565 ไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ และในปี 2573 จะเข้าสู่อย่างเต็มที่ และในอีก 10 ปี ประชากรและวัยแรงงานของไทยจะลดลงต่อเนื่อง ส่งผลต่อภาระการคลัง และการขยายตัวของเศรษฐกิจที่จะมีศักยภาพลดลง

นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่าปัจจุบันหนี้สาธารณะของไทย ณ สิ้นเดือนมี.ค. ที่อยู่ในระดับ 54.3% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์กรอบวินัยการเงินการคลังที่ไม่เกิน 60% และอยู่ในวิสัยที่ประเทศไทยเคยเผชิญจากวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540

ส่วนการก่อหนี้ภาครัฐส่วนใหญ่เป็นการกู้เงินในรูปแบบเงินบาท ไม่ถือเป็นเรื่องผิดปกติ โดยการกู้เงินเพิ่ม 7 แสนล้านบาทนั้น อาจส่งผลต่อหนี้สาธารณะขั้นต้นเกินกว่า 60% ต่อจีดีพีเล็กน้อย

“ระดับหนี้สาธาณะขั้นต้นที่อาจเกินกว่า 60% ต่อจีดีพีเล็กน้อย ไม่กระทบต่อความยั่งยืนของการคลังในระยะปานกลาง ประเทศไทยยังจำเป็นต้องมีหนี้สาธารณะระดับไม่น้อยกว่า 30% ต่อจีดีพี เพื่อรักษาสภาพคล่องในตลาดพันธบัตร (บอนด์) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ และสร้างเสถียรภาพด้านการเงิน”

ส่วนความคืบหน้าของมาตรการบรรเทาและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท รัฐบาลได้อนุมัติโครงการแล้ว 8.3 แสนล้านบาท คิดเป็น 83% ของวงเงิน ครอบคลุมด้านสาธารณสุข ด้านผลกระทบระยะสั้น และสำหรับการฟื้นฟูระยะยาว ด้านนโยบายการเงินที่ใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับ 0.5% ต่ำสุดประวัติการณ์

ประกอบกับมีมาตรการช่วยเหลือประชาชน เอสเอ็มอี ผ่านสถาบันการเงิน จะช่วยคลายความกังวล อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในช่วงไตรมาส 2 ให้มีแนวโน้มลดต่ำลง และช่วยลดการซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยจากโควิด-19 ได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน