ปตท.ผุด “On-I on Solutions” ลุยลงทุนธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าครบวงจรใน 2-3 ปีข้างหน้านี้ เล็งหาพันธมิตรตั้งโรงงานผลิตเองในไทย

ปตท.ลุยรถยนต์ไฟฟ้า – นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท. จัดตั้งบริษัทขึ้นใหม่ชื่อ “On-I on Solutions” หรือ ออน-ไอ ออน โซลูชั่นส์ สำหรับดำเนินธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างหาผู้ร่วมลงทุน เพื่อจัดตั้งโรงงานผลิตรถอีวีเอง ทั้งรถมอเตอร์ไซค์อีวี, รถ 4 ล้อ และรถบรรทุก และกำลังดำเนินการในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน ตั้งเป้าหมายเริ่มเปิดตัวอย่างเป็นทางการช่วงไตรมาส 3/2564 พร้อมวางรากฐานที่เกี่ยวข้องกับอีวีแบบครบวงจรภายใน 2-3 ปีนับจากนี้ เน้นกลุ่มลูกค้าในประเทศและประเทศในภูมิภาคอาเซียน ภายใต้งบลงทุนสำรองที่จัดเตรียมไว้ในอนาคต 332,000 ล้านบาท

“บริษัท On-I on จะดูแลธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าครบวงจร อยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการตั้งโรงงานผลิตรถอีวีป้อนตลาดในไทยและภูมิภาคนี้ แต่จะพิจารณาควบคู่กับการสนับสนุนรถอีวีจากภาครัฐด้วย พร้อมจัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้ารถอีวีนอกสถานีบริการน้ำมัน เช่น ศูนย์การค้า โรงแรม และอาคารสำนักงาน เป็นต้น ส่วนการลงทุนผลิตแบตเตอรี่อาจจัดหาหรือนำเข้าจากบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC คาดจะมีความชัดเจนเรื่องแพลตฟอร์มรถอีวีในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า”

นอกจากนี้ ช่วงปลายเดือนมิ.ย.นี้ ปตท. ในนามบริษัทลูก บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด (มหาชน) ร่วมกับบริษัท โลตัส ฟามาซูติคอล จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายยาสามัญชั้นนำของไต้หวัน ที่อินโนบิกถือหุ้นในสัดส่วน 6.66% จำหน่ายยาในตลาดไต้หวันและต่างประเทศอย่างสหรัฐ เกาหลีใต้ สหภาพยุโรป อังกฤษ ออสเตรเลีย อินเดีย สิงคโปร์ และญี่ปุ่น เตรียมนำเข้ายาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) จำนวน 2,000 ขวด เข้ามาในไทยเพิ่มเติมจากปัจจุบันที่ไทยมีอยู่ 4,000 ขวด เพื่อมอบให้ภาครัฐใช้รักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงซึ่งมีการใช้ในหลายประเทศทั่วโลก และสำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ได้ เช่น สตรีมีครรภ์เพื่อลดความเสี่ยงการเสียชีวิต

อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ ปตท. ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) กับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อจัดหาและนำเข้าวัคซีนต้านเชื้อโควิด-19 ใช้ในกลุ่มพนักงานในเครือ ปตท. และเพิ่มทางเลือกในการกระจายวัคซีนไปยังพื้นที่จังหวัดอื่น เช่น ระยอง ให้ประชาชนได้รับวัคซีนทั่วถึงเร็วขึ้น โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่ตั้งจุดบริการที่ปั๊มพีทีทีสเตชั่นในกรุงเทพ

นายอรรถพล กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบปริมาณการนำเข้าวัคซีนและจำนวนวัคซีนที่จะได้รับการจัดสรรจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์อย่างชัดเจน จึงไม่สามารถระบุเงินลงทุนที่แน่นอนได้ แต่เบื้องต้นปตท. ตั้งงบประมาณสำหรับดำเนินโครงการ “ต่อลมหายใจเดียวกัน” ประมาณ 200 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือสังคมในวิกฤตโควิด-19 ระลอก 3 โดยมีการจัดซื้อเครื่องช่วยหายใจให้โรงพยาบาลกว่า 300 เครื่อง และอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆ คิดเป็นมูลค่ารวม 170 ล้านบาท หากการแพร่ระบาดโควิด-19 ยืดเยื้อก็พร้อมจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมอีก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน