ผลผลิตลิ้นจี่ลดดันราคาพุ่ง 30.67 บาทต่อก.ก. หลังเกษตรกรโค่นทิ้งปลูกมะม่วง ลำไย ข้าวโพดแทน

ผลผลิตลิ้นจี่ลดดันราคาพุ่ง – นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ปี 2564 ข้อมูล ณ เดือนมี.ค. 2564 พื้นที่ 4 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงใหม่ น่าน เชียงราย และ พะเยา มีเนื้อที่ให้ผล 84,931 ไร่ คิดเป็น 80% จากเนื้อที่ให้ผลทั้งประเทศ 98,423 ไร่ มีผลผลิต 30,716 ตัน คิดเป็น 83% ของผลผลิต ทั้งประเทศ 37,113 ตัน ออกสู่ตลาดมากในเดือนพ.ค.จนถึงมิ.ย.นี้ ราคา ณ เดือนพ.ค. 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 30.67 บาท/กิโลกรัม (ก.ก.)

ทั้งนี้ ระยะเวลา 5 ปี นับจากปั 2558-2563 จำนวนเกษตรกรที่ปลูกลิ้นจี่ 25,358 ครัวเรือน ลดลงเหลือ 18,468 ครัวเรือน เนื้อที่ให้ผลผลิตลดลงจาก 119,194 ไร่ เหลือ 106,342 ไร่ ปริมาณผลผลิต 52,142 ตัน ลดลงเหลือ 33,996 ตันราคาที่เกษตรกรขายได้ ลิ้นจี่พันธุ์ฮงฮวยเกรดเอราคาปรับตัวสูงขึ้นจาก 15.77 บาท/ก.ก. ในปี 2558 เพิ่มเป็น 22.78 บาท/ก.ก. ในปี 2563 เนื่องจากยังมีความต้องการของตลาด

เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น สภาพอากาศแปรปรวน ผลผลิตออกน้อย เกษตรกรมีการโค่นต้นลิ้นจี่และเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า เช่น มะม่วง ลำไย สับปะรดภูแล และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เกษตรกรผู้ปลูกลิ้นจี่ส่วนใหญ่มีความชำนาญและมีประสบการณ์ในการปลูกหลายสิบปี มีการพัฒนาการผลิต และคุณภาพผลผลิต ตลอดจนการได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมในการถ่ายทอดองค์ความรู้จากหน่วยงานภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มคุณภาพผลผลิต การผลิตตามมาตรฐาน GAP และเกษตรอินทรีย์ เกษตรกรส่วนใหญ่มีใบรับรอง GAP และมีการใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ในอัตราที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม เกษตรกรยังไม่สามารถปลูกลิ้นจี่อินทรีย์เต็มรูปแบบได้ เนื่องจากปัญหาหนอนเจาะขั้วลิ้นจี่ จึงยังจำเป็นต้องใช้สารเคมีเพื่อกำจัดศัตรูพืช นอกจากนี้ เกษตรกรผู้ปลูกลิ้นจี่ยังประสบปัญหาหลายประการ

ทั้งนี้ ลิ้นจี่ที่ผลิตในประเทศไทยส่วนใหญ่ 70% บริโภคภายในประเทศ ที่เหลือ 30% ส่งออกไปยังประเทศเวียดนาม ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ บาห์เรน กาตาร์ และฝรั่งเศส โดยเกษตรกรและผู้รับซื้อ (ล้ง) มีการปรับเปลี่ยนช่องทางในการจำหน่ายผลผลิต โดยขยายตลาดไปยังโมเดิร์นเทรด อาทิ ส่งห้างสรรพสินค้า (เดอะมอลล์) ร้านเลมอนฟาร์ม ตลาดสดองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ตลาดไท และตลาดในท้องถิ่น เช่น พ่อค้า/แม่ค้า หน่วยงานราชการ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ผ่านมาของปี 2563 เกษตรกรประสบปัญหาในการกระจายสินค้า เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 เกษตรกรจึงปรับตัว หันมาจำหน่ายผลผลิตผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ทั้ง Facebook และ Line เพิ่มเติม โดยได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐ และได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคค่อนข้างดี แต่เกษตรกรยังคงประสบปัญหาในเรื่องของบรรจุภัณฑ์และการรักษาความสดของผลลิ้นจี่ให้ได้นานเกิน 3 วัน เนื่องจากไม่มีรถขนส่งแบบห้องเย็น ทำให้ไม่สามารถส่งไปยังจังหวัดที่อยู่ไกลพื้นที่แหล่งผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น จังหวัดทางภาคใต้ตอนล่าง เป็นต้น

ดังนั้น ควรมีการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิต คิดค้นพันธุ์ลิ้นจี่ที่มีความทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนเครื่องมือและอุปกรณ์ในการเก็บเกี่ยว การห่อผลผลิต รวมถึงการสนับสนุนบรรจุภัณฑ์ การลดระยะเวลาในการขนส่ง และรถขนส่งแบบห้องเย็นที่จะทำให้ผลผลิตคงความสดใหม่ได้นานขึ้น ก็จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรผู้ปลูกลิ้นจี่ได้ดีขึ้นแน่นอน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน