ต่ำสุดในรอบ 41 เดือน ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เผยผลสำรวจเอกชน จี้รัฐเร่งฉีดวัคซีน หวังภูเก็ตแซนด์บ็อกฟื้นชีพเศรษฐกิจ ชี้ควรเพิ่มวงเงินคนละครึ่ง ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีรวมทั้งปัดฝุ่นครงการช้อปดีมีคืนด้วย

วันที่ 10 มิ.ย.2564 นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ว่าศูนย์ฯได้สำรวจความเห็นจากจากประธานหอการจังหวัด รองประธาน และกรรมการ 369 ตัวอย่าง พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย อยู่ที่ระดับ 24.7 เป็นการลดลงต่อเนื่องจากเดือนเม.ย.ที่อยู่ระดับ 27.6 ถือเป็นการลดต่ำสุดตั้งแต่ ม.ค. 2561 หรือ 41 เดือน ซึ่งสาเหตุหลักมาจากสถานการณ์โควิด รอบที่ 3 ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศทั้งปัจจุบันและในอนาคต, ภาครัฐออกมาตรการควบคุมการระบาดของโรคโควิด และมาตรการควบคุมแบบบูรณาการจำแนกตามเขตพื้นที่ ภายใต้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน, การสั่งปิดกิจการในหลายประเภท

” การสำรวจในรอบนี้ ทุกภาคพูดถึงปัญหาการเลิกจ้างจากสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 63 ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มมากขึ้น จากรายได้ที่ลดลง โดยภาคธุรกิจต้องการให้รัฐบาลดำเนินการเร่งด่วนคือ การกระจายและการฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุดทำให้การดำเนินชีวิตกลับสู่ภาวะปกติ หลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลายลง เร่งหยุดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เป็นคลัสเตอร์ใหญ่ที่กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล ขับเคลื่อนภาคการส่งออก เพื่อเพิ่มระดับการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมให้กลับมาสร้างรายได้เพิ่มขึ้น และช่วยลดการปลดแรงงานลงในบางอุตสาหกรรม รวมทั้งเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ”

ภูเก็ตแซนด์บ็อก

นายธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า ทางศูนย์พยากรณ์ฯประเมินว่า การระบาดของโควิดรอบ 2 จะทำให้เม็ดเงินทางเศรษฐกิจหายไป 2-3 แสนล้านบาท ส่งผลให้เศรษฐกิจไตรมาส 1 ขยายตัวติดลบ 2.1% โดยรัฐบาลอัดเม็ดเงินเข้าระบบให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 3 แสนล้านบาทซึ่งเพียงพอสำหรับโควิดรอบ 1 เท่านั้น แต่ในรอบ 2 และรอบ 3 ประเมินว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจ 5-8 แสนล้านบาท ขณะที่รัฐบาลเตรียมแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ ในไตรมาส 3 จำนวน 2 แสนล้านบาท

โดยส่วนหนึ่งนำไปใช้ในมาตรการคนละครึ่งเฟส 3 แบ่งจ่ายเป็น 2 ช่วงคือ ช่วงแรก ไตรมาส 3 (ก.ค.-ก.ย.)จำนวน 1,500 บาทและช่วงที่ 2 ไตรมาส 4 ( ต.ค.-ธ.ค. )1,500 บาทครอบคลุมทั้งหมด 31 ล้านคน รวม วงเงินกว่า 9.3 หมื่นล้านบาท เมื่อวงเงินจะถูกซอยออกเป็น 2 ไตรมาส ๆ 46,000 ล้านบาท เมื่อบวกกับเงินของประชาชนอีกครึ่งหนึ่งก็จะมีเงินหมุนในระบบเศรษฐกิจไตรมาส 3 ประมาณ 9.3 หมื่นล้านบาท แทนที่จะเป็น 1.8 แสนล้านบาท และเมื่อรวมกับมาตรการ e-Voucherก็จะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไตรมาส 3 เพียง 2 แสนล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอสำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจ

 ดัชนีความเชื่อมั่น

” ภาคเอกชนเห็นว่าควรเพิ่มวงเงินคนละครึ่งไป 6 พันล้านบาท ในไตรมาส 3และ 4 ก็จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีรวมทั้งปัดฝุ่นครงการช้อปดีมีคืนด้วยซึ่งจะทำให้มีเงินสะพัดอีก 5-7 หมื่นล้านบาทนอกจากนี้โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อก เดินหน้าได้ตามแผน ประกอบการฉีดวัคซีนโควิดในประเทศทำได้มากขึ้นถึง 50 % ภายในเดือน ธ.ค.ก็จะสามารถเปิดประเทศได้ เม็ดเงินจากการท่องเที่ยวก็จะเข้ามาในประเทศ อย่างน้อยปีหน้า หากนักท่องเที่ยวเข้ามาได้ถึง 6 ล้านคนก็จะมีเม็ดเงินหมุนเวียนเศรษฐกิจถึง 5 แสนล้านบาท

รวมทั้งการส่งออกไทยในปีนี้จะเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 7% และหากสามารถรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนไว้ที่ราว 31 บาทต่อดอลลาร์ได้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการส่งออกที่จะเป็นตัวช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยในปีนี้ได้ไวขึ้น เพราะมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นทุก 1% จะทำให้มีเม็ดเงินสะพัดเพิ่มขึ้น 6-8 แสนล้านบาท หากทุกอย่างเป็นไปตามแผนรวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชดเชยผลกระทบที่เศรษฐกิจได้รับจากโควิด-19 ในระดับหนึ่งและเศรษฐกิจของประเทศในปีนี้จะยังสามารถขยายตัวได้ 2 % “

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน