นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมความร่วมมือโครงการรถไฟไทย-จีน ครั้งที่ 22 ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการเริ่มต้นการก่อสร้าง รถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ตอนที่ 1 ช่วงกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร (ก.ม.) ในวันที่ 21 ธ.ค. 2560 นี้ โดยจะนำเรื่องนี้เสนอให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีพิจารณาและเดินทางมาเป็นประธานเปิดงานด้วย

ส่วนการออกแบบก่อสร้างตอนที่ 2 ระยะทาง 11 ก.ม. ตอนที่ 3 ระยะทาง 119 ก.ม. และตอนที่ 4 ระยะทาง 110 ก.ม.นั้น มีมติร่วมกันที่จะแบ่งงานโยธาออกเป็น 14 สัญญา โดยจะจัดลำดับความสำคัญในเรื่องของการออกแบบและเริ่มต้นก่อสร้างให้เกิดความต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่กรุงเทพฯไป

“การเปิดเดินรถนั้นจะใช้หลักการว่าก่อสร้างสถานีไหนเสร็จก่อน ก็เปิดเดินรถก่อน เบื้องต้นจะให้ความสำคัญเปิดเดินรถในช่วงกรุงเทพฯ-อยุธยาก่อน เพื่อให้การออกและการประกวดราคาเริ่มต้นได้ จากนั้นจะเริ่มทยอยเปิดสถานีต่อไป”

นายอาคม กล่าวถึงสัญญา 2.3 งานระบบรถไฟความเร็วสูง อาณัติสัญญาณ ตัวรถที่ออกมาวิ่งและเดินรถ การบำรุงรักษา ว่า จะเร่งให้คณะทำงานทั้ง 2 ฝ่ายจะเร่งหาข้อสรุปให้ได้ในเดือนมี.ค. 2561 เพราะต้องการให้การก่อสร้างเสร็จสามารถเดินรถได้ทันที ขณะเดียวกันยังมีการหารือถึงเฟส 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย โดยไทยจะอาศัยประสบการณ์จากการดำเนินงานในเฟสแรก เพื่อดำเนินการออกแบบก่อสร้างเอง

โดยขณะนี้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้เตรียมเรื่องของการศึกษาความเหมาะสมไว้แล้ว และได้ส่งให้ทางจีนได้แสดงความคิดเห็นแล้วเช่นเดียวกัน เบื้องต้นจะใช้ผลการศึกษาของไทยในการเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ ส่วนจะเสนอได้เมื่อไหร่ขอรอความเห็นจากทางจีนก่อนว่ามีอะไรเพิ่มเติมอีกหรือไม่

นายอาคม กล่าวว่า สำหรับเรื่องการออกแบบรายละเอียดนั้น ไทยจะอาศัยประสบการณ์ในระยะที่ 1 เพื่อดำเนินการเองเช่นเดียวกัน ก็เชื่อว่าไทยจะสามารถออกแบบรายละเอียดได้ โดยมีฝ่ายจีนเป็นที่ปรึกษา ซึ่งฝ่ายจีนก็เห็นด้วย เพื่อให้การดำเนินการเฟส 2 รวดเร็ว และสามารถเริ่มต้นระยะที่ 2 ได้ภายในปี 2561

สำหรับเรื่องการถ่ายถอดเทคโนโลยีนั้น หลังจากประชุมครั้งนี้ทางจีนจะส่งคณะผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันรถไฟความเร็วสูงมาทำงานร่วมกับทางกระทรวงคมนาคมในเรื่องของการจัดทำแผนถ่ายทอดเทคโนโลยีในเดือนธ.ค.นี้

นายอาคม กล่าวว่า ยังมีเรื่องการเชื่อมต่อระหว่างสถานีหนองคาย-สถานีเวียงจันทร์ของลาว เพื่อรถไฟความเร็วสูงทั้ง 3 ประเทศเชื่อมต่อกันได้ โดยเรื่องนี้ทางจีนรับไปดำเนินการศึกษาออกแบบ โดยจะมีการหารือร่วมกันของทั้ง 3 ประเทศ คือ ไทย จีน และลาวด้วย

นายอาคม กล่าวว่า ในส่วนของรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ โดยทาง สนข. ไปชี้แจงในเรื่องของรถไฟความเร็งสูงที่จะผ่านพื้นที่ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ที่มีโรงงานปูนซีเมนต์หลายแห่งแล้ว คาดว่าจะไม่มีปัญหา เนื่องจากคณะกรรมการฯเคยอนุมัติให้ก่อสร้างรถไฟทางคู่ ซึ่งผ่านตรงนั้นเหมือนกัน

“โครงการนี้มีวงเงิน 1.79 แสนล้านบาท เป็นเงินลงทุนในการก่อสร้าง 1.25 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 14 สัญญา ส่วนแต่ละสัญญาจะใช้วงเงินเท่าไหร่ก็ต้องพิจารณาอีกครั้ง โดยจะใช้ระยะเวลาก่อสร้างก็ประมาณ 3-4 ปีถึงจะแล้วเสร็จ”นายอาคม กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน