พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวในโอกาสเป็นประธานพิธีเปิดโรงงานผลิตหน่วยกักเก็บพลังงาน ด้วยเทคโนโลยีเซมิ โซลิด (SemiSolid) แห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ว่า ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยให้อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยรักษาจุดยืนการเป็นผู้นำฐานการผลิตยานยนต์ในภูมิภาคและต่อยอดเปลี่ยนผ่านตัวเองเข้าสู่เทคโนโลยีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่ได้เร็วขึ้น สู่การเป็นศูนย์กลางการลงทุนยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของอาเซียน

ปัจจุบันจะเห็นว่ามีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ตามท้องถนนมากขึ้น ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ยานยนต์ไฟฟ้าจะได้รับความสนใจ คือ ต้องทำให้ราคารถยนต์ลดลง เข้าถึงได้ง่ายขึ้น และเทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดดเพิ่มประสิทธิภาพของยานยนต์ไฟฟ้า รองรับการเติบโตของตลาดยานยนต์ไฟฟ้าที่รัฐบาลต้องการสนับสนุนให้เกิดขึ้น

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานกรรมการ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC กล่าวว่า โรงงานแบตเตอรี่แห่งนี้ถือเป็นโรงงานแห่งแรกในประเทศไทยและแห่งแรกในภูมิภาคอาเซีน เม็ดเงินลงทุน 1,100 ล้านบาท กำลังการผลิต 30 เมกะวัตต์ชั่วโมง และในอนาคตจะขยายขึ้นเป็น 1 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี ตามเป้าหมายที่บริษัทกำหนดจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน อยู่ที่ 8,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573

นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC กล่าวว่า บริษัทได้รับสิทธิในการดำเนินการผลิตและจัดจำหน่ายผลิตแบตเตอรี่เซมิโซลิด ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการผลิตของบริษัท 24M Technologies Incorporation หรือ 24M จากประเทศสหรัฐ กำลังการผลิตเริ่มต้น 30 เมกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี โดยสามารถขยายกำลังการผลิตของโรงงานนี้เพิ่มเป็น 100 เมกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี และก้าวสู่โรงงานผลิตเชิงพาณิชย์ขนาดเริ่มต้น 1 GWh (กิกะวัตต์ชั่วโมง) ต่อปี

นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างศึกษาและพิจารณาแผนการลงทุนในโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาด Giga-scale คาดว่าปีหน้าจะเห็นข้อสรุปของพื้นที่ตั้ง ซึ่งเบื้องต้นได้มองพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และมีเป้าหมายตั้งใกล้โรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อลดต้นทุนค่าขนส่ง ส่วนในอนาคตหากขยายการผลิตแบตเตอรี่สู่ขนาด 10 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี อาจต้องใช้เวลาพัฒนาถึง 10 ปี เงินทุนประมาณ 30,000 ล้านบาท พร้อมรองรับต่อแผนยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย

เบื้องต้นจะเริ่มต้นจากการผลิต G-Cell แบบ LFP (Lithium Iron Phosphate) หรือ ลิเธียมไอรอนฟอสเฟต ที่มีจุดเด่นเรื่องความปลอดภัยในการใช้งานสูง และมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่า จึงเหมาะสมกับแอพพลิเคชั่นที่หลากหลาย รวมทั้งยังสามารถรีไซเคิล (Recycle) ได้ง่ายเมื่อแบตเตอรี่หมดอายุการใช้งานเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

โดยบริษัทจะเน้นลูกค้าทั้งในกลุ่ม ปตท. กลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) รวมถึงผู้ประกอบการที่ต้องใช้แบตเตอรี่เป็นส่วนประกอบของสินค้า โดยในระยะแรกจะเน้นไปที่กลุ่มผู้ผลิตและใช้งานระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) และยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ด้วยลักษณะการใช้งานที่เหมาะสมกับจุดแข็งของ G-Cell แบบลิเธียมไอรอน ฟอสเฟต

ส่วนยานยนต์ไฟฟ้าในกลุ่ม Passenger EV ที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด และเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่ประเทศไทยให้การส่งเสริมและมีเป้าหมายการผลิตให้ได้ 30% ของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศในปี 2573 ซึ่งนิยมใช้แบตเตอรี่แบบ NMC (Lithium Nickel Manganese Cobalt Oxide) ซึ่งบริษัทสามารถนำเข้าแบตเตอรี่แบบ NMC ที่ผลิตจากเทคโนโลยีเดียวกัน โดยบริษัท Anhui Axxiva New Energy Technology Co., Ltd. (AXXIVA) ประเทศจีน ที่บริษัทได้เข้าไปลงทุนก่อนหน้านี้ ป้อนให้กับกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการได้เช่นกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน