สรท.ผวา! โควิดลามโรงงาน ทุบส่งออกปี’64 เหลือแค่ 10% จี้รัฐคุมระบาด-เร่งฉีดวัคซีน หวังพยุงเครื่องจักรตัวสุดท้ายที่ยังขับเคลื่อน

สรท.ผวา! โควิดลามโรงงาน – นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า สรท. คาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2564 เติบโต 10% โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญในปี 2564 ได้แก่ การฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจโลกเห็นได้จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐ จีน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น จากการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่และความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนซึ่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการใช้จ่ายตามปกติ

ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าใกล้เคียง 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากปัจจัยความกังวลต่อสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยที่มีความรุนแรงซึ่งส่งผลลบต่อเศรษฐกิจไทยปี 2564 ประกอบกับการแข็งค่าโดยเปรียบเทียบของดอลลาร์สหรัฐ จากการเผชิญแรงกดดัน หลังประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณไม่รีบคุมเข้มนโยบายการเงิน แม้ว่าเงินเฟ้อสหรัฐ จะขยับสูงขึ้น

ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงอย่างต่อเนื่องถึงระดับ 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากแรงหนุนจากความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วโลกโดยเฉพาะยุโรปและสหรัฐ ที่เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในหลายพื้นที่ รวมถึงจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใหม่ทั่วโลกปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญในปี 2564 ได้แก่ สถานการณ์การระบาดโควิด-19 ที่มีความรุนแรงในประเทศ เห็นได้จากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ภายในประเทศยังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากไม่สามารถควบคุมและลดการแพร่ระบาดได้อาจจะกระทบเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง โดยเฉพาะภาคการส่งออกซึ่งถือเครื่องจักรตัวสุดท้ายที่ยังขับเคลื่อน

“กรณีการติดเชื้อในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมเริ่มแพร่กระจายมากขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อกำลังการผลิต และการส่งมอบสินค้า ทำให้การส่งออกเติบโตได้เพียง 10% จากที่คาดว่ามีโอกาสเติบโตได้ถึง 15% ประกอบกับมาตรการ Bubble & Seal ซึ่งโรงงานขนาด SMEs ส่วนใหญ่ อาจไม่สามารถดำเนินการได้และมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ขณะเดียวกันภาครัฐไม่สามารถอำนวยความสะดวกและสนับสนุนได้ทั้งหมด”

ปริมาณความต้องการตู้สินค้ายังไม่เข้าสู่ภาวะสมดุล ปริมาณการหมุนเวียนของตู้สินค้ายังไม่เพียงพอ ประกอบกับค่าระวางเรือยังคงปรับตัวอยู่ในทิศทางขาขึ้น ค่าระวางการขนส่งสินค้าทางทะเลยังมีการปรับขึ้นในเกือบทุกเส้นทางโดยเฉพาะเส้นทางยุโรป และสหรัฐอเมริกา เนื่องด้วยปริมาณการขนส่งทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ขณะที่สายเรือใช้โอกาสเรียกเก็บค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มมากขึ้น อาทิ Peak Season Surcharge (PSS) ซึ่งแม้บางบริษัทยอมจ่ายอัตรา Premium แต่ก็ยังไม่ได้ตู้สินค้า รวมถึงผู้ส่งออกที่ได้รับการยืนยันตู้แล้วก็อาจถูกยกเลิกก่อนกำหนด ทำให้ผู้ส่งออกไทยไม่สามารถส่งออกได้ตามเป้า การบริหารจัดการภายในท่าเทียบเรือที่ขาดประสิทธิภาพ และปัญหาจากการล่าช้าของเรือ ทำให้ตู้สินค้าไม่สามารถหมุนเวียนในระบบได้ดีเพียงพอ

แรงงานขาดแคลน เนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทำให้ความต้องการแรงงานในกระบวนการผลิตเพิ่มขึ้น แต่แรงงานต่างด้าวเดินทางกลับประเทศและยังไม่ได้เดินทางกลับเข้ามา ประกอบกับยังไม่สามารถจัดสรรวัคซีนโควิด-19 ให้เพียงพอกับจำนวนแรงงานในภาคการผลิต ซ้ำเติมปัญหาการขาดแคลนแรงงานให้ทวีความรุนแรงมากขึ้น ขณะที่ ยังมีข้อจำกัดในการจ้างแรงงานแบบ part-time ให้สอดคล้องกับกฎหมายในปัจจุบัน และปัจจัยการผลิตมีปริมาณไม่เพียงพอ ส่งผลให้ต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น อาทิ Semiconductor Chip / Steel โดยเฉพาะต่ออุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น และไม่สามารถผลิตได้ตามกำลังการผลิตหรือความต้องการของตลาดโลก

นายชัยชาญ กล่าวต่อว่า สำหรับข้อเสนอแนะและความเห็นของ สรท. ไม่เห็นด้วยกับมาตรการ Fully Lockdown โดยขอ ยกเว้น ให้ภาคการผลิตและกิจกรรมโลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกและนำเข้า เช่น การปฏิบัติงานของท่าเรือ การขนส่งสินค้าเข้าสู่ท่าเรือ ยังสามารถดำเนินการได้ต่อเนื่อง เพราะมีผลต่อสัญญาการค้าระหว่างประเทศ และหลายธุรกิจมีสัดส่วนการผลิตเพื่อป้อนตลาดในประเทศ หากมีการหยุดประกอบการ จะส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคภายในประเทศตามมาในที่สุด

สรท. เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งบริหารจัดการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมทุกภาคส่วนโดยเฉพาะแรงงานภาคอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกให้เร็วที่สุด พร้อมเรียกร้องให้มีการปรับใช้มาตรการทางสาธารณสุขที่เป็นมาตรฐานเดียวจากส่วนกลางเพื่อให้สามารถดำเนินการเหมือนกันในแต่ละพื้นที่จังหวัด โดยเฉพาะกรณีโรงงานที่มีพนักงานอยู่ในกลุ่มเสี่ยง

นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้หน่วยงานราชการเร่งปรับปรุงการทำงานในการจัดการด้านเอกสารออนไลน์ (e-Document) และการขออนุญาต/ใบรับรองเพื่อการส่งออกนำเข้าผ่านระบบ National Single Window (NSW) เพื่อลดการสัมผัสจากการเข้าไปติดต่อราชการ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน