นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สศก. ประเมินสถานการณ์โควิด-19 ระลอกเดือนเม.ย. ที่รุนแรงและยืดเยื้อ กระทั่งรัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ มีการควบคุมพื้นที่ การจำกัดเปิดร้านค้า และ ร้านอาหารต่างๆ รวมทั้งปิดตลาดสดระยะเวลา 5 เดือน ระหว่างเดือนเม.ย.-ส.ค. 2564 คาดมูลค่าเศรษฐกิจการเกษตรในส่วนของการบริโภคสินค้าเกษตรในประเทศ จะลดลงรวมทั้งสิ้น 13,895 ล้านบาท

สาขาการผลิตทางการเกษตร 5 อันดับที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ การทำสวนผัก มูลค่าทางเศรษฐกิจลดลง 3,049 ล้านบาท รองลงมา คือ การทำสวนผลไม้ มูลค่าลดลง 2,061 ล้านบาท การทำนา มูลค่าลดลง 2,038 ล้านบาท การประมงทะเลและการประมงชายฝั่ง มูลค่าลดลง 1,007 ล้านบาท และการเลี้ยงสัตว์ปีก มูลค่าลดลง 908 ล้านบาท ตามลำดับ เนื่องจากโครงสร้างการบริโภคของไทย มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการบริโภค ผัก ผลไม้ และข้าว มากที่สุด

แม้โควิด-19 จะส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย แต่การส่งออกสินค้าเกษตรไทย ยังขยายตัวได้ดี ตามเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า การส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทยไปยังตลาดโลก ช่วงครึ่งแรกของปี 2564 เดือนม.ค.-มิ.ย. มีมูลค่าส่งออกอยู่ที่ 716,581 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 ซึ่งอยู่ที่ 669,079 ล้านบาท สินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์สำคัญที่มีปริมาณและมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ ยางพารา ทุเรียนและผลิตภัณฑ์ สับปะรดและผลิตภัณฑ์ ลำไยและผลิตภัณฑ์ เนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ กุ้งและผลิตภัณฑ์ และน้ำมันปาล์ม สำหรับตลาดส่งออกหลักที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป (อียู)

ด้านนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ภาคเกษตรเป็นภาคสำคัญที่รองรับการย้ายคืนถิ่นในช่วงการระบาดโควิด-19 ส่วนใหญ่เป็นแรงงานเมือง และความรู้และเทคโนโลยี จึงเป็นการสร้างโอกาสการเปลี่ยนแปลงในภาคเกษตรและเร่งกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคให้เกิดขึ้นจริงได้ เพราะกลุ่มแรงงานคืนถิ่นรุ่นใหม่กลุ่มนี้ จะเพื่อเป็นกำลังสำคัญทั้งการสร้างมูลค่าใหม่ทางการเกษตร รวมทั้งพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงเกษตรและสุขภาพ

สำหรับแรงงานย้ายคืนถิ่นภาคเกษตร มีทั้งกลุ่มรายได้น้อย ลูกจ้างรายวัน ทำงานในภาคบริการ โรงแรม และภัตตาคาร และการตัดสินใจกลับภูมิลำเนาเพื่อความอยู่รอด บางกลุ่มจึงอาจต้องการมีทักษะ เพิ่มทักษะและความสามารถให้แรงงานในภาคเกษตรเหล่านั้น เพื่อพัฒนาการขายสินค้าเกษตร อาทิ ช่องทางการขายทั้งออฟไลน์และออนไลน์ รวมทั้งพัฒนาและแชร์ข้อมูลเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ๆ ระหว่างกันเพื่อช่วยวางแผนพัฒนาภาคเกษตร ในทุกมิติ

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เตรียมแนวทางดำเนินนโยบายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ตลอดจนผลักดันนโยบายดังกล่าวให้เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการพัฒนาและปรับทักษะแรงงาน (upskill/reskill) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล (Smart Farm) ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้ยั่งยืนและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจไทยสามารถรองรับปัจจัยลบต่างๆ ที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจ (economic shocks) ในอนาคตได้ดีขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน