นายชนินทร์ ขาวจันทร์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ภาพรวมมูลค่าการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอปี 2564 คาดว่าจะอยู่ที่ 5 แสนล้านบาท ตามเป้าหมายที่วางไว้ เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติเริ่มทยอยกลับมาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือแพทย์ และพลังงานสะอาด ซึ่งบีโอไอเตรียมปรับปรุงสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนให้ครอบคลุมประเภทกิจการที่เกี่ยวข้องกับอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นรองรับเทคโนโลยีขั้นสูง รวมทั้งอยู่ระหว่างหารือกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ในการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมอวกาศ เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นแหล่งผลิตดาวเทียมของโลกในอนาคต

“การแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรมดิจิตอล ความต้องการชิพหรือชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ สูงขึ้น และต่อไปเมื่อเทคโนโลยี 5G เข้ามาทุกเทคโนโลยีจะเชื่อมโยงกันไปสู่ระบบอัจฉริยะต่างๆ มากขึ้น ดังนั้นเราจึงอยู่ในอุตสาหกรรมเดิมไม่ได้ ต้องหนีไปสู่อุตสาหกรรมที่ยากขึ้น นโยบายก็ต้องปรับไม่ให้ตกขบวน เพื่อดึงการลงทุนที่เป็นเทคโนโลยีระดับสูง หากการแพร่ระบาดโควิด-19 ของไทยดีขึ้น เชื่อว่าในอีก 2 ปีการขอรับส่งเสริมการลงทุนจะกลับสู่ภาวะปกติที่มูลค่า 7 แสนล้านบาทได้”นายชนินทร์กล่าว

สำหรับความคืบหน้าการยื่นขอรับส่งเสริมลงทุนครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.2564) จากบีโอไอมีมูลค่ากว่า 3.8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 158% โดยนักลงทุนญี่ปุ่นยังคงมีสัดส่วนการลงทุนโดยตรงในไทย (เอฟดีไอ) สูงสุด ทั้งนี้ หากพิจารณาจากอุตสาหกรรมครึ่งปีแรก พบว่ากลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีการลงทุน 113 โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8% มูลค่า 57,263 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 65% และมีแนวโน้มการลงทุนต่อเนื่อง

นายชนินทร์ กล่าวว่า เบื้องต้นมีนักลงทุนจากญี่ปุ่นและจีน ขนาดกิจการระดับ 1,000 ล้านบาท ตัดสินใจเข้ามาลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์แน่นอนแล้ว 10 ราย คาดว่าปีนี้การลงทุนกลุ่มนี้จะอยู่ที่ประมาณส 1 แสนล้านบาท ทั้งยังมีรายอื่นๆ ที่อยู่ระหว่างหารือ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงเป็นอิเล็กทรอนิกส์ระดับไมโคร แต่ยอมรับว่าสิทธิประโยชน์ด้านภาษีของไทยที่มีอยู่ไม่จูงใจให้เข้ามาลงทุนเท่าที่ควร ทางบีโอไอจึงกำลังทบทวนปรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมและเพิ่มประเภทกิจการให้ครอบคลุมดึงการลงทุนเสนอบอร์ดบีโอไอเร็วๆ นี้”

นอกจากนี้ บีโอไอยังอยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางผลักดันการทำแพ็กเกจส่งเสริมอุตสาหกรรมอวกาศ เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นแหล่งผลิตดาวเทียมของโลกในอนาคตร่วมกับ GISTDA หลังพบว่าอุตสาหกรรมดาวเทียมที่อยู่เหนือพื้นโลกระยะ 200 กิโลเมตร กำลังมาแรงจะถูกนำมาใช้งานเพิ่มขึ้นในอนาคตที่เกี่ยวข้องกับระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ดังนั้นไทยซึ่งมีฐานการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ รองรับก็น่าจะขยับไปสู่ดาวเทียม อากาศยานในระยะยาวได้ และยังสอดรับกับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กิจการอวกาศ พ.ศ..…ของไทย หากเป็นไปได้จะพยายามให้เกิดเป็นรูปธรรมในปีนี้ เพื่อประชาสัมพันธ์ชักชวนนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามสลงทุนได้ในปี 2565 อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับว่าบอร์ดบีโอไอจะให้ความเห็นชอบด้วยหรือไม่เป็นหลัก

“ขณะนี้บริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนด้านการบินและอวกาศ และให้บริการอินเตอร์เน็ตผ่านดาวเทียมของไทยเองก็มีศักยภาพถือเป็น Tech Startup ของไทยที่บีโอไอส่งเสริมอยู่ เพื่อให้ไทยก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิตอล และมีเครือข่ายต่างชาติที่จะดึงเข้ามาเพื่อร่วมมือกัน โดยใช้ไทยเป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชนระยะยาว”นายชนินทร์กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน