หนี้โควิดอ่วม 3.29 ล้านล้าน แบงก์ชาติรับมือ-เข็นออกมาตรการเสริม มีผล 3 ก.ย.นี้ ขยายเงินกู้-ค้ำประกันสินเชื่อฟื้นฟู เพิ่มวงเงินบัตรเครดิต ลากจ่ายขั้นต่ำถึงสิ้นปี 2565 พร้อมสั่งเลิกพักหนี้ เน้นปรับโครงสร้างแบบจุด

วันที่ 3 ก.ย.64 นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตามที่ ธปท.ประกาศมาตรการเพื่อเติม เพื่อสนับสนุน ช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 บรรเทาผลกระทบให้กับลูกหนี้ได้มากขึ้นในสถานการณ์ที่ยังต้องเผชิญกับภาวะการระบาด และรักษาสภาพคล่องและเติมเงินใหม่ให้กับลูกหนี้เอสเอ็มอี และลูกหนี้รายย่อย รวมถึงมาตรการสนับสนุนการแก้ไขหนี้เดิมอย่างยั่งยืน มีผลบังคับใช้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 3 ก.ย. 2564

สำหรับมาตรการ ประกอบด้วย 1.ปรับปรุงหลักเกณฑ์สินเชื่อฟื้นฟูสำหรับผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอี โดยขยายวงเงินสินเชื่อเดิมมีวงเงินสินเชื่อเดิมต่ำ หรือไม่มีวงเงินกับสถาบันการเงิน เพราะใช้เงินทุนส่วนตัวหรือรายได้ของบริษัทในการประกอบธุรกิจเป็นหลัก และเพิ่มการค้ำประกันและปรับลดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันให้กับลูกหนี้กลุ่มเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็น micro-SMEs และภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรง โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวและภาคบริการ เพื่อเอื้อให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อแก่ลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง ตั้งแต่วันที่ 6 ก.ย. 2564

โดยที่ผ่านมา ได้มีการปล่อยสินเชื่อฟื้นฟูไปแล้ว รวม 32,025 ราย เป็นวงเงิน 98,316 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ อีกกว่า 1.5 แสนล้านบาท ก็เป็นตัวเลขที่อยากเห็นว่าปล่อยได้เพิ่มเติมเมื่อมีการปรับมาตรการ แต่ก็ไม่ได้ตั้งเป้าว่าต้องได้มากน้อยแค่ไหน ขณะที่มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ มีลูกหนี้ร่วมมาตรการแล้ว 82 ราย คิดเป็นวงเงิน 11,697 ล้านบาท

2.ผ่อนปรนหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสินเชื่อลูกหนี้รายย่อยเป็นการชั่วคราว ในส่วนของบัตรเครดิต สินเชื่อ ส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ และสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล เพื่อลดภาระการจ่ายชำระหนี้ ตลอดจนเพิ่มสภาพคล่องให้กับลูกหนี้ที่มีความสามารถในการชำระหนี้ได้ ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 3 ก.ย.2564 จนถึงสิ้นปี 2565

ประกอบด้วย การขยายเพดานวงเงินเป็น 2 เท่าของเงินเดือน สำหรับบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล กรณีผู้มีรายได้ ต่ำกว่า 30,000 บาท และ สินเชื่อส่วนบุคคล ผู้กู้สามารถขอสินเชื่อได้โดยไม่จำกัดจำนวนผู้ให้บริการ , คงอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำบัตรเครดิตที่ถูกปรับลดลงในช่วงการแพร่ระบาดก่อนหน้าเหลือร้อยละ 5 ต่อไปจนถึงสิ้นปี 2565 และ ขยายเพดานวงเงินสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลจากรายละไม่เกิน 20,000 บาท เป็น 40,000 บาท และขยายระยะเวลาการชำระคืนจากไม่เกิน 6 เดือน เป็น 12 เดือน

นายรณดล กล่าวว่า มาตรการแก้ไขหนี้เดิมอย่างยั่งยืน เพื่อให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบด้วยการปรับโครงสร้างหนี้แบบระยะยาวอย่างตรงจุดและเหมาะสมกับปัญหาของลูกหนี้แต่ละราย โดยกำหนดการจ่ายหนี้ ให้สอดคล้องกับรายได้ที่ลดลงมากของลูกหนี้ และทยอยจ่ายเพิ่มขึ้นเมื่อรายได้เริ่มกลับมา รวมทั้งต้องเร่งช่วยลูกหนี้ ให้ได้จำนวนมากและเร็ว โดย ธปท. ได้ผ่อนคลายหลักเกณฑ์การจัดชั้นและการกันเงินสำรองที่เกี่ยวข้องตามความเข้มข้นของความช่วยเหลือ ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 3 ก.ย.2564

“มาตรการประบโครงสร้างหนี้ จะต้องคำนึงถึง 4 ปัจจัย คือ 1.มองยาวถึงสถานการณ์ในอนาคต 2.ทำกว้าง ครอบคลุมลูกหนี้ที่มีปัญหา 3.ตรงจุด กับอาการของลูกหนี้ และ 4.เป็นธรรมทั้งกับเจ้าหนี้และตัวลูกหนี้ เช่น มีการกำหนดจ่ายหนี้แบบหน้าต่ำ เพื่อลดภาระให้กับลูกหนี้ โดย ธปท.ได้สั่งการให้สถาบันการเงิน จัดทำรายงานดำเนินการช่วยเหลือลูกหนี้ ว่าได้เป็นไปตามแนวทางที่คาดไว้หรือไม่”

ทั้งนี้ มาตรการแก้ไขหนี้ ถูกปรับให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่สูงขึ้นและสถานการณ์ที่ยืดเยื้อ เพื่อช่วยลูกหนี้ที่ยังได้รับผลกระทบหนักให้สามารถบริหารจัดการสภาพคล่องผ่านช่วงวิกฤตนี้ไปได้ และต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมของทั้งกับลูกหนี้และเจ้าหนี้ โดยไม่สร้างแรงจูงใจที่ไม่เหมาะสม (moral hazard) เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงได้อย่างมีประสิทธิผล

โดยลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจริงก็ควรได้รับความช่วยเหลือในรูปแบบที่แตกต่างกันไปตามสถานะของลูกหนี้แต่ละราย ทั้งนี้ ธปท. จะร่วมกับสมาคมธนาคารไทยในการเร่งรัดและติดตามการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบอย่างใกล้ชิด

“การพักชำระหนี้อาจจะไม่ตอบโจทย์แล้ว เพราะเหมาะกับการแก้ปัญหากรณีเศรษฐกิจมี shock ระยะสั้น และสถานการณ์กลับสู่ปกติเร็ว แต่การพักชำระหนี้ไปเรื่อย ๆ นอกจากจะไม่ทำให้ภาระลดลงจริง ยังทำให้ลูกหนี้มีความเครียดจากความไม่แน่นอน เสียเวลาในการติดต่อสถาบันการเงิน และ สถาบันการเงินเจ้าหนี้เองก็สิ้นเปลืองต้นทุนการบริหารจัดการด้วย”

ทั้งนี้ ยืนยันว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีความเข้มแข็ง โดยมีเงินกองทุน เงินสำรองและสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง สามารถรองรับผลกระทบจากการแพร่ระบาด ต่อเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวและทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้และสนับสนุนความต้องการสินเชื่อได้ ทั้งนี้ มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และการผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นช่วยชะลอการด้อยลงของคุณภาพสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ ขณะที่ผลประกอบการปรับดีขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน โดยหลักจากค่าใช้จ่ายกันสำรองที่ลดลงหลังจากการกันสำรองในระดับสูงในปีก่อน

โดย ธปท. ดูแลให้ธนาคารพาณิชย์ ทั้งระบบเสริมสร้างเงินกองทุนและเงินสำรองสูงมาอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือน ม.ค.2563 ช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ธนาคารพาณิชย์มีการกันสำรองส่วนเกินจำนวนมากตามมาตรฐานบัญชีใหม่ (TFRS9) นอกจากนี้ ในปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ ก็ยังคงมีการตั้งสำรองเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้มีเงินสำรองเพียงพอสามารถรองรับการเสื่อมค่าของสินเชื่อรายย่อยที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จากวิกฤตโควิดนี้ได้ และยังสามารถส่งความช่วยเหลือให้แก่ลูกหนี้รายย่อยต่อไปได้

ปัจจุบัน มีลูกหนี้ที่ได้รับการช่วยเหลือจากสถาบันการเงิน ข้อมูล ณ สิ้นเดือน มิ.ย.2564 มีลูกหนี้ที่อยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลือ จำนวน 5 ล้านบัญชี เป็นมูลหนี้ 3.29 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงิน 1.9 ล้านบัญชี เป็นยอดหนี้ประมาณ 2 ล้านล้านบาท ซึ่งลดลงจากช่วงเวลาที่มีลูกหนี้อยู่ในมาตรการสูงสุดเมื่อเดือน ก.ค.2563 ที่มีลูกหนี้ในมาตรการจำนวน 12.52 ล้านบัญชี ยอดหนี้ 7.2 ล้านล้านโดยส่วนใหญ่ลูกหนี้ที่ออกจากมาตรการสามารถกลับมาชำระหนี้ได้ โดยลูกหนี้ในมาตรการทยอยลดลงมาเป็นลำดับ

อย่างไรก็ดี ลูกหนี้ในมาตรการมีแนวโน้มเริ่มสูงขึ้นตั้งแต่ มิ.ย.2564 จากสถานการโรคบาดที่รุนแรงขึ้น จนมีการล็อกดาวน์อีกครั้งในเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า สถาบันการเงินแต่ละแห่งจะจัดทำทางเลือกการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้แต่ละกลุ่ม (Product program) ให้สอดคล้องกับปัญหาและสถานะของลูกหนี้ และติดตามดูแลช่วยเหลือลูกหนี้อย่างใกล้ชิด ให้มีผลภายใน มี.ค.2565 เพื่อให้ธนาคารยังเป็นกลไกสำคัญและมีกำลังไปช่วยลูกหนี้ที่ได้รับความเดือดร้อนได้อย่างเพียงพอและทั่วถึง และสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ในระยะต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน