กบง. ตรึงราคาแอลพีจีครัวเรือนต่ออีก 3 เดือน ถึง 31 ธ.ค.64 พร้อมสั่งทบทวนกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด

กบง.ตรึงราคาแอลพีจี3เดือน – นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ในฐานะเป็นประธานประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เปิดเผยว่า กบง. เห็นชอบให้คงราคาขายปลีกก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ที่ 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ออกไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่ 1 ต.ค.-31 ธ.ค. 2564 เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แม้ว่าราคาแอลพีจีตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในช่วงปลายปีนี้ พร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงพลังงานติดตามสถานการณ์ราคาแอลพีจีอย่างใกล้ชิด และนำเสนอแนวทางการทบทวนราคาแอลพีจีต่อ กบง. ต่อไป

นอกจากนี้ กบง. ยังมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ร่วมกันดำเนินการทบทวนปรับปรุงแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผน PDP2018 rev.1 ในช่วงปี 2564-2573 ตามมติ กพช. ให้สอดคล้องกับศักยภาพของพลังงานหมุนเวียน

โดยมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ร่วมกับการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ให้การสนับสนุนข้อมูลศักยภาพสายส่ง รวมถึงพิจารณาจัดทำแผนปรับปรุงระบบสายส่ง และจำหน่ายไฟฟ้า ให้สอดคล้องกับการทบทวนแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดที่จัดทำขึ้น และนำกลับมาเสนอ กบง. เพื่อพิจารณาต่อไป

ที่ประชุม กบง. ยังพิจารณาหลักการเพื่อวัตถุประสงค์ด้านความมั่นคงทางพลังงานและส่งเสริมศักยภาพในการแข่งขันของประเทศให้สอดรับกับประชาคมโลกที่มุ่งเน้นพลังงานไฟฟ้าสะอาด ลดการปล่อยคาร์บอนและรองรับการก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ประกอบด้วย 1. ทบทวนปรับพิ่ม/ลดกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่รายปีของโรงไฟฟ้าประเภทฟอสซิล (Coal/Natural Gas) โรงไฟฟ้าจาก RE (รายเชื้อเพลิง) เช่น ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ แสงอาทิตย์ ลม ขยะชุมชน ขยะอุตสาหกรรม เป็นต้น รวมถึงการรับซื้อไฟฟ้าโครงการพลังน้ำจากประเทศเพื่อนบ้าน

2. ทบทวนโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้ารายเชื้อเพลิงที่มีการดำเนินการล้าช้ากว่าแผน เพื่อปรับกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ใหม่ เช่น โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก โรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โรงไฟฟ้าขยะชุมชน เป็นต้น 3. รวมทั้งพิจารณาเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้ารายเชื้อเพลิงที่มีศักยภาพเหมาะสมร่วมกับเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้า เช่น โซลาร์กับเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน เป็นต้น

ทั้งนี้ เป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่เห็นชอบกรอบแผนพลังงานชาติ โดยมอบหมายให้ กบง. บริหารจัดการและพิจารณาทบทวนปรับปรุงแผนการเพิ่มการผลิตตามหลักการการบริหารจัดการและพิจารณาทบทวนปรับปรุงแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ปี 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Rev.1) ในช่วงปี 2564-2573

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน