นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการ หอการค้าไทย-จีน เปิดเผยว่า หอการค้าไทย-จีน และคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำรวจดัชนีความเชื่อมั่น ไตรมาส 4/2564 ด้วยการสำรวจสมาชิกหอการค้าไทยจีน 200 คน พบว่าปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดความกังวลก่อนที่จะผ่านปี 2564 คือ ความกังวลต่อการกลายพันธุ์ของโควิด-19 ที่รุนแรงกว่าสายพันธุ์เดลตา

ปัจจัยในลำดับต่อมาคือ หนี้สะสมของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน และเสถียรภาพทางด้านการเมือง และอีกสองปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 คือ ความสำเร็จของการฉีดวัคซีนให้ได้ตามแผน และการที่ต่างชาติเฝ้าระวังไทยหากมีการระบาดของโรคเพิ่มสูงขึ้น

จากการตั้งเป้าหมายฉีดวัคซีนให้ครบ 2 เข็ม 70% ของประชากรที่อยู่ผลการสำรวจพบว่า 19% เห็นว่าจะมีผลดีต่อเศรษฐกิจมาก และ 54.7% เห็นว่าจะมีผลดีต่อเศรษฐกิจภายในสิ้นปี 2564 อย่างไรก็ตาม มี 23.6% คาดว่าสถานการณ์เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวทันที ซึ่งอาจจะเป็นเพราะปัจจัยอื่นๆ นอกเหนือจากโรคระบาด

สะท้อนให้เห็นว่าการฉีดวัคซีนให้ได้ตามแผนที่วางไว้และการมีเอกสารแสดงว่าได้รับวัคซีนแล้ว มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและสร้างความมั่นใจในการทำธุรกิจที่มีคนพบปะกันจำนวนมาก อาทิ ร้านอาหาร และศูนย์การค้า

กลุ่มตัวอย่าง 52.4% เห็นว่าจำนวนผู้ติดเชื้อควรจะมีน้อยกว่า 2,000 รายต่อวัน (ค่าเฉลี่ย 14 วันย้อนหลัง) และ 15.1% เห็นว่าผู้ติดเชื้อควรจะมีอยู่ระหว่าง 2,000 ถึง 4,000 ราย

เมื่อพิจารณาถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีนและไทย จากการสำรวจพบว่า 44.8% คาดว่าเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนโดยรวมของจีนในไตรมาสที่ 4 จะดีขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 ในขณะที่ 24.1% คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะทรงๆ ส่วน 25% มีความเห็นว่าเศรษฐกิจจีนน่าจะเติบโตช้าลง

โดยคาดว่าการส่งออกของไทยไปยังประเทศจีนในไตรมาสที่ 4 เมื่อเทียบกับไตรมาสปัจจุบันคือ 40.1% คาดว่าการส่งออกของไทยไปยังจีนจะเพิ่มขึ้น และ 31.1% ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบัน การคาดคะเนการนำเข้านั้น 45.8% คาดว่าการนำเข้าจากจีนจะเพิ่มสูงขึ้น และ 25.5% การนำเข้าจะทรงตัว

ส่วนด้านการลงทุนของจีนในไทย พบว่า การคาดคะเนระหว่างการลงทุนจากจีนที่ เพิ่มขึ้น คงเดิม หรือลดลงไม่มีความแตกต่างกัน ระหว่างไตรมาสนี้และไตรมาสหน้า หรือ ไตรมาสแรกของปี 2565

อุปสรรคการส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดจีน ยังพบว่ามีปัญหาในเรื่องของต้นทุนค่าขนส่งทางเรือ ปัญหาของความไม่เพียงพอของการให้บริการทางเรือ การขาดแคลนแรงงานและวัตถุดิบในประเทศไทย ขั้นตอนการนำเข้าสินค้าของจีน และมาตรฐานสินค้าที่จีนบังคับใช้ แต่เป็นที่น่าสนใจว่าการชำระและการโอนเงินค่าสินค้านั้นเป็นอุปสรรคน้อยที่สุด ด้วยจีนกำลังรณรงค์นโยบายเศรษฐกิจเติบโตที่รอบด้านและเสมอภาค (Common Prosperity) ซึ่งน่าจะมีผลกระทบต่อประเทศไทยกำลังฟื้นตัวจาก โควิด-19

จากการคาดการณ์พบว่า 30.2% จีนจะนำเข้าสินค้ามากขึ้นและลงทุนในไทยมากขึ้น 22.6% ให้ความคิดเห็นในทิศทางตรงกันข้าม 12.3% คาดว่าไม่มีผลกระทบ จากผลการสำรวจในกรณีนี้คงต้องติดตามผลของนโยบายอย่างใกล้ชิด และทำความเข้าใจต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของนโยบายจีน โดยเฉพาะวิกฤตพลังงานของจีน จะส่งผลต่อการชะลอกำลังการผลิตและชะลอการนำเข้าวัตถุดิบ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์การผลิต ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุตสาหกรรม ทั้งของจีนเอง รวมถึงในภูมิภาคและโลกโดยรวม

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจระบุว่าสถานการณ์เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ของไทยโดยรวม ในไตรมาสที่ 4 เมื่อเทียบกับไตรมาสปัจจุบัน 41.5% คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น 26.9% จะทรงๆ 28.8% ไตรมาสที่ 4 จะชะลอตัวลง

ทั้งนี้ ภาคธุรกิจที่ยังสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ คือ ธุรกิจออนไลน์ ธุรกิจโลจิสติกส์ พืชผลการเกษตร เกษตรแปรรูปและบริการสุขภาพ ส่วนธุรกิจที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน คือ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง อุตสาหกรรมการผลิต ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก และพืชผลการเกษตรบางรายการ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน