นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในการจัดงานโครงการแฟรนไชส์สร้างอาชีพเพื่อผู้มีรายได้น้อย ว่า เป็นการต่อยอดจากโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐของรัฐบาล สนับสนุนให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงดูตนเองได้อย่างยั่งยืน กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจึงได้ร่วมมือกับธุรกิจแฟรนไชส์ที่ธนาคารของรัฐในการให้สินเชื่อเพื่อเป็นทุนในการประกอบอาชีพ ให้ผู้มีรายได้น้อย

ทั้งนี้ ธุรกิจแฟรนไชส์ที่เข้าร่วมออกบูธแสดงธุรกิจในครั้งนี้ กว่า 50 แบรนด์ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจประเภทอาหารและเครื่องดื่มขนาดเล็ก ถ้าผู้มีรายได้น้อยสนใจลงทุนในแบรนด์ใดก็สามารถเจรจาซื้อ-ขายกันได้ทันทีภายในงานประกอบกับ มีธนาคารออมสินมาพิจารณาให้สินเชื่อโดยมีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันสินเชื่อให้ผู้สนใจและผู้มีรายได้น้อยที่จะลงทุนในระบบแฟรนไชส์ รวมไปถึงมีการสัมมนาเรื่อง ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับแฟรนไชส์ การทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายง่ายๆ อย่างไรให้มีกำไรยั่งยืน และหลักการเลือกซื้อแฟรนไชส์ เพื่อให้ผู้เข้าสัมมนามีข้อมูลสำหรับสนับสนุนการตัดสินใจลงทุนด้วย

สำหรับแบรนด์ที่มาร่วมงานเป็นแฟรนไชส์ที่มีมูลค่าการซื้อขายต่อธุรกิจอยู่ที่ 10,000-50,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นแบรนด์ที่มีราคาไม่สูงมากเหมาะสำหรับผู้จะเริ่มต้นธุรกิจแต่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน เช่น แบรนด์พิซซ่าอาหม่วย, แหม่ม ซาลาเปาลาวา, โจ๊กแต้จิ๋ว, กิมซุนหมูปิ้งประเทศไทย, ร้านประจำ Delivery, ตำระวิง mini, อาโกกาแฟโบราณ, เต้าหู้ลุงเหน่ง, ชาตันหยง, สุขอุทัย ผัดไทแฟรนไชส์, Laundry Care Mini, The hen Noodle, น้ำหอมกัลยา, อร่อยจัง, ลูกชิ้นพิษณุโลก ราม่า, สเต็กขั้นเทพ, นมเหนียว ปังปิ้ง, ไจแอ้นลูกชิ้นระเบิด, ซูโม่ลูกชิ้นปลาระเบิด, อู้ฟู่ลูกชิ้นปลาเยาวราช, ราชาหมูระเบิด และชาบังนัน เป็นต้น

อย่างไรก็ดี การจัดโครงการแฟรนไชส์สร้างอาชีพเพื่อผู้มีรายได้น้อย ครั้งนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นโดยจะขยายผลการจัดงานไปยังภูมิภาคอื่นๆ ด้วย

นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการฝ่าย ฝ่ายการตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า บสย. ให้การสนับสนุน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ภายใต้โครงการแฟรนไชส์สร้างอาชีพเพื่อผู้มีรายได้น้อย โดยมีธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สองสถาบันการเงินรัฐที่ให้การสนับสนุนด้วย

ในส่วนของ บสย. ปัจจุบันมีโครงการค้ำประกันสินเชื่อรองรับอยู่ 2 โครงการ คือ 1. โครงการค้ำประกันสินเชื่อไมโคร (Micro Entrepreneurs ระยะที่ 2) ซึ่งยังมีวงเงินค้ำประกันสินเชื่อประมาณ 3,500 ล้านบาท 2. โครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ทวีทุน (PGS 6) ปรับปรุงใหม่ ซึ่งยังมีวงเงินเหลือกว่า 50,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถรองรับความต้องการสินเชื่อของผู้ขอสินเชื่อและธนาคารที่ปล่อยสินเชื่อที่ร่วมโครงการค้ำประกันสินเชื่อไมโคร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน