รายงานพิเศษ – อัดเม็ดเงินเหยียบคันเร่งโค้งท้าย เอกชนขานรับ-ดันศก.ปลายปี

โค้งสุดท้ายปี 2564 ภายใต้ความอึมครึมของสถานการณ์โควิด-19 ทำให้รัฐบาล โดยกระทรวงการคลัง ต้องออกแรงเหยียบคันเร่งเศรษฐกิจให้เข้าเป้าหมายการเติบโตที่ 1.3%

ภายใต้พ.ร.ก.กู้เงินในสถานการณ์โควิดรอบใหม่อีก 5 แสนล้านบาท กับส่วนที่เหลือจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ยังคงมี เม็ดเงินเพียงพอที่จะมาใช้ปลุกการบริโภค กระตุกเศรษฐกิจ ไม่ให้ซึมเซากว่าที่เป็นอยู่

คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 ต.ค. ที่ผ่านมา เห็นชอบตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ ที่อนุมัติเพิ่มวงเงินสนับสนุนในโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน เป็นกระสุนกระตุ้นเศรษฐกิจนัดสุดท้ายช่วงไตรมาส 4/2564

ประกอบด้วย 1.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 เพิ่มวงเงินค่าซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น (ร้านธงฟ้าฯ) และค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการจากร้านค้าหรือผู้ให้บริการที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 เพิ่มเติม จำนวน 300 บาทต่อคนต่อเดือน

ตั้งแต่เดือนพ.ย.-ธ.ค.2564 รวม 600 บาทต่อคน ให้แก่ผู้มีบัตรฯ เมื่อรวมกับวงเงินที่ได้อยู่เดิม 200 บาทต่อเดือน จะรวมเป็นวงเงินทั้งสิ้น 500 บาทต่อคนต่อเดือน

2.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ เพิ่มวงเงินค่าซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้าฯ และค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการจากร้านค้าหรือผู้ให้บริการที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่งระยะที่ 3 เพิ่มเติม จำนวน 300 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 2 เดือน รวม 600 บาทต่อคน

3.โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 เพิ่มเติมวงเงินสนับสนุนรัฐร่วมจ่าย รอบที่ 3 จำนวน 1,500 บาทต่อคน ในเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2564 โดยนำไปรวมกับวงเงินคงเหลือจากรอบที่ 1 และ 2 ของโครงการคนละครึ่ง

และ 4.โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ เพิ่มวงเงินสนับสนุนบัตรกำนัลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Voucher) ของรัฐ จำนวน 3,000 บาทต่อคน ตั้งแต่วันที่ 1-30 พ.ย. 2564 ฯลฯ

การอัดเงินรอบใหม่ช่วงสิ้นปีอีกกว่า 5 หมื่นล้านบาท ทำให้ภาคเอกชน หรือธุรกิจต่างๆ ชูมือสนับสนุนเต็มที่ เพราะเชื่อว่าช่วยดันการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วง 2 เดือนสุดท้าย ที่ปกติเป็นฤดูขายอยู่แล้ว

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยมองว่ามาตรการดังกล่าวบรรเทาผล กระทบจากค่าครองชีพ และยังช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน

นายสนั่น อังอุบลกุล

ทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้นประมาณ 95,000 ล้านบาท ส่งผลให้ประมาณการเศรษฐกิจ ของประเทศไทยในปี 2564 นี้ เพิ่มเป็น 1.0-1.5%

“ช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี เป็นช่วงที่ประชาชนใช้จ่ายกันมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเดินทางท่องเที่ยว หรือการซื้อของขวัญปีใหม่ แต่ด้วยสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา และยังถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาอุทกภัยในหลายจังหวัด ทำให้เงินในระบบเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาหมุนเวียนช้า”

มาตรการของภาครัฐที่ออกมาดังกล่าวจึงถือเป็นเรื่องที่ดี และเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยบรรเทาผลกระทบจากค่าครองชีพได้ส่วนหนึ่ง และหลังจากน้ำท่วม จะต้องมีการก่อสร้าง การจับจ่ายใช้สอยเพื่อฟื้นฟูความเสียหาย ส่วนนี้ก็จะช่วยแบ่งเบาภาระของประชาชนได้

หอการค้าไทยประเมินว่า ผลลัพธ์จากมาตรการต่างๆ นี้ จะเกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงินและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น

การใช้จ่ายของประชาชนใน 2 เดือนสุดท้ายนี้ จะเป็นตัวชี้วัดสำคัญตัวหนึ่งในการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ นอกเหนือจากเม็ดเงินที่จะได้จากการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพราะแม้ว่าจะเริ่มเปิดเมืองในเดือนพ.ย.นี้ แต่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะยังไม่ได้เข้ามาทันทีทันใด

ดังนั้น การบริโภคและการเดินทางภายในประเทศจึงเป็นตัวเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สำคัญ

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ที่ออกมาน่าจะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศกลับเข้าสู่ทิศทางที่ดีขึ้นและพร้อมจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องอีกครั้ง

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์

บวกกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ ประกอบกับภาครัฐได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส ทั้งการปรับลดเวลาเคอร์ฟิว และคลายล็อกดาวน์ให้ผู้ประกอบการสามารถเปิดดำเนินการได้เพิ่มมากขึ้น

รวมทั้งการฉีดวัคซีนสามารถดำเนินการได้ครอบคลุมประชากรเพิ่มมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ความเชื่อมั่นภาวะเศรษฐกิจของผู้ประกอบการและประชาชนดีขึ้น

นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวว่า โครงการคนละครึ่งเฟส 3 เพิ่มเติมอีกคนละ 1,500 บาท ถือเป็นมาตรการที่ประสบความสำเร็จที่สุด ที่รัฐบาลออกมาช่วยเหลือระบบเศรษฐกิจ และช่วยค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ใช้ง่ายได้ประโยชน์ทั้งประชาชน ลูกจ้างทั่วไป ตั้งแต่รากหญ้าถึงชนชั้นกลาง และร้านค้ารายย่อยที่เข้าร่วมโครงการ

นางฐนิวรรณ กุลมงคล

เม็ดเงินที่เข้าสู่ร้านค้ารายย่อย มันหมุนเร็วช่วยเหลือเศรษฐกิจภาพรวมได้ดี ร้านอาหารทั่วไปที่เป็นร้านข้างทาง ร้านห้องแถว หรือแม้แต่ที่ออกบูธในห้างสรรพสินค้า ส่วนใหญ่เข้าถึงโครงการนี้ เมื่อรัฐบาลออกมาจึงเกิดผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ ช่วยใส่เงินเข้าในระบบร้านค้าข้างทาง ที่เคยขาดสภาพคล่อง

เมื่อรัฐบาลคลายล็อก ผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ก็ทำให้ร้านอาหาร ภัตตาคารมีรายได้เพิ่มขึ้น ขณะนี้แม้จะยังไม่เหมือนช่วงก่อนโควิด แต่ถือว่าสภาพคล่องดีขึ้น การค้าขายของร้านค้าดีขึ้น

“ไทยมีสตรีตฟู้ดจำนวนมาก เมื่อมีโครงการคนละครึ่งออกมาเพิ่มเงินให้คนไทยอีก การซื้อขายของก็คึกคักขึ้นเพราะเหมือนประชาชน ลูกจ้าง ได้รับสิทธิพิเศษลดราคาสินค้า 50% ทำให้คนซื้อตัดสินใจซื้อของได้ง่ายเงิน คนขายก็ได้ราคาเท่าเดิมไม่ต้องลดราคา”

ด้านนายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า เป็นการกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศ หลังการผ่อนคลายมาตรการทางสาธารณสุข และนโยบายการเตรียมเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย.นี้

นายญนน์ โภคทรัพย์

ทั้งนี้ ในกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงควรการนำโครงการ “ช้อปดีมีคืน” กลับมาอีกครั้งหนึ่ง และเพิ่มวงเงินเป็น 200,000 บาท เพื่อกระตุ้นความเชื่อมั่นให้กลับมาโดยเร็ว และจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 4 ซึ่งเป็นโค้งสุดท้ายของปีนี้ได้

“ผู้ประกอบการเองต้องการความช่วยเหลือ โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีให้จัดหาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง และเป็นแต้มต่อให้เอสเอ็มอีไทยสามารถดำเนินธุรกิจได้ต่อไป ต่อจากนี้ไปเราต้องร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ เพื่อผลักดันเศรษฐกิจไทยเข้าสู่การฟื้นฟูอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อการเติบโตของประเทศอย่างยั่งยืน”

นายอนุชิต สรรพอาษา

นายอนุชิต สรรพอาษา รองกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ สายการตลาด บริษัท โรบินสัน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โรบินสันเชื่อว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยปลุกกำลังซื้อ และกระตุ้นท่องเที่ยว-เศรษฐกิจให้คล่องตัวขึ้น และสามารถกระตุ้นกำลังซื้อในต้นไตรมาส 4 ให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง

นายกิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์

 

นายกิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์ กรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซิงเกอร์ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เม็ดเงินเหล่านี้เมื่อเข้าไปถึงช่องทางหรือส่วนของภูมิภาคจะมีผลค่อนข้างมาก เพราะแทนที่จะไปกระตุ้นรายใหญ่ แต่เงินที่เข้าไปยังผู้บริโภคที่เป็นรายย่อย

ประกอบกับยังให้ความสะดวกในการใช้จ่ายกับร้านค้าในชุมชน โดยจะเห็นทุกครั้งที่รัฐมีการอัดฉีดเม็ดเงินผ่านมาตรการอนุมัติช่วยเหลือโดยเฉพาะมาตรการคนละครึ่ง เป็นต้น

เม็ดเงินพวกนี้พอเข้ามาจะเห็นได้ชัดว่าจะเกิดการจับจ่ายใช้สอยในร้านค้าท้องถิ่น ส่วนนี้จะเห็นประโยชน์ชัดเจนคือเม็ดเงินจะหมุนเวียนอยู่ในภูมิภาคและในชุมชน

ทุกฝ่ายเชื่อว่าเม็ดเงินก้อนทิ้งทวนปลายปีนี้ น่าจะดันการเติบโตเศรษฐกิจไทย และสร้างกระแสเงินมุนเวียนได้ไม่มากก็น้อย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน