นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ใน 3 จังหวัด คือ จ.ฉะเชิงเทรา จ.ชลบุรี และ จ.ระยอง ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ตั้งแต่เดือนม.ค.-ก.ย. 2564 มีจำนวน 5,081 ราย ทุนจดทะเบียน 14,837.44 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปี 2563 จำนวน 4,879 ราย เติบโตเพิ่มขึ้นคิดเป็น 4.14% และมีมูลค่าทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้นจาก 13,947.33 ล้านบาท คิดเป็น 6.38% โดย จ.ชลบุรี มีการจัดตั้งธุรกิจใหม่มากที่สุดจำนวน 3,485 ราย คิดเป็น 68.58%

สำหรับธุรกิจตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 645 ราย เพิ่ม 12.69% ทุนจดทะเบียน 2,647 ล้านบาท เพิ่ม 17.84% ก่อสร้างอาคารทั่วไป 465 ราย เพิ่ม 9.15% ทุนจดทะเบียน 1,092 ล้านบาท เพิ่ม 7.36% ขนส่ง ขนถ่ายสินค้า รวมถึงผู้โดยสาร 214 ราย เพิ่ม 4.21% ทุนจดทะเบียน 270.56 ล้านบาท เพิ่ม 1.82%

ปัจจุบันพื้นที่ 3 จังหวัดในอีอีซี มีนิติบุคคล คงอยู่ ณ 30 ก.ย. 2564 จำนวน 75,155 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 1.50 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น จ.ชลบุรี 54,394 ราย คิดเป็น 72.38% จ.ระยอง 14,492 ราย คิดเป็น 19.28% และ จ.ฉะเชิงเทรา 6,269 ราย คิดเป็น 8.34% ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจบริการ คิดเป็น 60.36% รองลงมาคือ การขายส่งขายปลีก คิดเป็น 24.57% และการผลิตคิดเป็น 15.07%

ทั้งนี้ มีการลงทุนของต่างชาติในนิติบุคคลไทยที่จัดตั้งในไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 822,634 ล้านบาท คิดเป็น 54.49% ของทุนทั้งหมด โดยสัญชาติญี่ปุ่นมีสัดส่วนมากที่สุด คิดเป็น 46.61% มูลค่า 383,438 ล้านบาท รองลงมาคือ จีน มีสัดส่วนคิดเป็น 12.41% มูลค่า 102,108 ล้านบาท และสิงคโปร์ มีสัดส่วนคิดเป็น 5.53% มูลค่า 5.53% โดยมีการลงทุน ใน จ.ระยอง สูงสุด คิดเป็น 52.55% มูลค่า 432,314 ล้านบาท รองลงมาคือ จ.ชลบุรี 37.62% มูลค่า 309,459 ล้านบาท และ จ.ฉะเชิงเทรา 9.83 % มูลค่า 80,861 ล้านบาท

โดยนักลงทุนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมอื่นๆ สำหรับยานยนต์ มูลค่าการลงทุน 79,493.35 ล้านบาท ธุรกิจผลิตอะลูมิเนียมและผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียมมูลค่าการลงทุน 38,720.91 ล้านบาท และธุรกิจผลิตยางล้อและยางในมูลค่าการลงทุน 31,797.31 ล้านบาท

“การเพิ่มของจำนวนการจดทะเบียนนิติบุคคลจัดตั้งใหม่และนิติบุคคลดำเนินกิจการอยู่ใน 3 ไตรมาส สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของการจดทะเบียนนิติบุคคลทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม นโยบายการเปิดประเทศเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และจำนวนผู้ได้รับวัคซีนในประเทศที่เพียงพอ เป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างความเชื่อมั่นที่ดีในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 ผู้ประกอบธุรกิจจึงควรติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง”นายทศพล กล่าว

นายทศพล กล่าวว่า สำหรับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ หรือเอสอีซี คือ จ.ชุมพร จ.ระนอง จ.สุราษฏร์ธานี และ จ.นครศรีธรรมราช มีการจดตั้งธุรกิจใหม่ 9 เดือนแรก มีจำนวน 1,776 ราย เพิ่มขึ้น 9.23% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีจำนวน 1,626 ราย โดยมีทุนจดทะเบียน 3,187 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.09% โดยธุรกิจตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 233 ราย เพิ่ม 13.12% ทุนจดทะเบียน 448 ล้านบาท เพิ่ม 17.08% อสังหาริมทรัพย์ 165 ราย เพิ่ม 9.29% ทุนจดทะเบียน 415 ล้านบาท เพิ่ม 13.04% และขนส่ง ขนถ่ายสินค้า รวมถึงผู้โดยสาร 67 ราย เพิ่ม 3.77% ทุนจดทะเบียน 68 ล้านบาท เพิ่ม 2.14%

ปัจจุบันมีนิติบุคคลคงอยู่จำนวน 25,694 ราย ทุนจดทะเบียน 143,509 ล้านบาท แบ่งเป็น จ.สุราษฏร์ธานี 16,476 ราย คิดเป็น 64.13% มูลค่าทุนจดทะเบียน 86,880 ล้านบาท จ.นครศรีธรรมราช 5,884 ราย คิดเป็น 22.90% มูลค่าทุนจดทะเบียน 11,074 ล้านบาท จ.ชุมพร 2,298 ราย คิดเป็น 8.94% มูลค่าทุนจดทะเบียน 15,281 ล้านบาท และ จ.ระนอง 1,036 ราย คิดเป็น 4.03% มูลค่าทุนจดทะเบียน 11,074 ล้านบาท

ขณะที่การลงทุนของต่างชาติในนิติบุคคลที่จัดตั้งในไทย มีมูลค่า 13.053 ล้านบาท คิดเป็น 9.09% ของมูลค่าทุนทั้งหมด โดยสัญญาติจีนมีการลงทุนมากที่สุด คิดเป็น 15.12% มูลค่า 1,973 ล้านบาท รองลงมาเป็นฝรั่งเศส 14.65% มูลค่า 1,912 ล้านบาท และอังกฤษ 13.31% มูลค่า 1,737 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนการลงทุนใน จ.สุราษฏร์ธานีสูงสุด 11,928 ล้านบาท รองลงมาเป็น จ.ชุมพร 661.97 ล้านบาท จ.นครศรีธรรมราช 360.39 ล้านบาท และ จ.ระนอง 102.40 ล้านบาท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน