“สุจิตรา ธนะเศวตร”

หากเป็นไปตามกำหนดรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน เส้น กรุงเทพฯ-โคราช ได้ฤกษ์ตอกเสาเข็มวันที่ 21 ธ.ค.

ในโอกาสนี้กระทรวงการต่างประเทศจีนจึงเชิญคณะสื่อมวลชนไทย ไปดูพัฒนาการที่มาพร้อมประสบการณ์รถไฟความเร็วสูงของจีน จนสามารถสร้างและทำให้เศรษฐกิจรถไฟความเร็วสูงเติบโต ควบคู่กับการผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจโลก ผ่านการริเริ่มนโยบาย 1 แถบ 1 เส้นทาง สร้างโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมจีน เชื่อมโลก

นายจ้าว หัวถัง อธิบดีกรมเทคโนโลยีและสารสนเทศ อดีตรองนายช่างใหญ่แห่งบริษัทการรถไฟจีน มีหน้าที่ดูแลโครงการรถไฟ ในต่างประเทศ เล่าว่า รถไฟความเร็วสูงของโลกแบ่งเป็น 3 ขั้นตอน 1) ปี 2507-2523 รถไฟความเร็วสูงของญี่ปุ่น เก่าแก่ที่สุด พัฒนายาวมากถึง 2,000 กิโลเมตร (ก.ม.) ทำให้ทุกวันนี้จึงช้าลงนิดหน่อย โดยพัฒนาอีก 700 ก.ม. 2) ปี 2533-2543 ยุโรปพัฒนาอย่างรวดเร็ว 3) ปี 2543 ถึงปัจจุบัน จีนพัฒนารถไฟความเร็วสูงรวดเร็วที่สุดประเทศหนึ่งในโลก

ประเทศจีนมีพื้นที่ 9,596,960 ตารางก.ม. พื้นที่บนบก 9,326,410 ตารางก.ม. สร้างระบบคมนาคมขนส่ง รถไฟความเร็วสูงของจีนมีอายุ 27 ปี แบ่งพัฒนาการเป็น 4 ขั้นตอน

1.ขั้นตอนเตรียมตัวระหว่างปี 2533-42

2.หลังปี 2542 สร้างเส้นทางฉินขวางเต่า-เสิ่นหยาง ความเร็วในการออกแบบ 320 ก.ม.ต่อชั่วโมง แต่วิ่งจริง 200-250 ก.ม.ต่อชั่วโมง เส้นทางนี้ให้ประสบการณ์สำคัญมาก นำไปสู่เส้นปักกิ่ง-เทียนจิน 350 ก.ม.ต่อชั่วโมง เริ่มสร้างปี 2548 เป็นเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเส้นแรกของจีน เปิดให้บริการปี 2551 ต้อนรับกีฬาโอลิมปิก

3.ปี 2542-51 ระยะ 9 ปี จีนเรียกว่าการทดลองการก่อสร้าง เพราะได้ประสบการณ์จากรถไฟความเร็วสูงที่ความเร็ว 250-350 ก.ม.ต่อชั่วโมงมาแล้ว

4.หลังปี 2551 จีนพัฒนารถไฟความเร็วสูงอย่างรวดเร็ว เช่น เส้นทางปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ ความเร็วทดลองเร็วที่สุด 486.1 ก.ม.ต่อชั่วโมง อีกเส้นที่โดดเด่น เป็นเส้นทางวิ่งในเมืองหนาว คือ ฮาร์บิน- ต้าเหลียน หนาวที่สุด -40 องศาเซลเซียส เส้นทางหลานโจว-ซินเจียง ทางตะวันตกเฉียงเหนือ ผ่านทะเลทรายมีลมแรง รวมถึงเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่ยาวที่สุดในโลก ปักกิ่ง-กวางโจว ยาว 2,298 ก.ม.

การรถไฟจีนดียังไง จุดเด่นรถไฟความเร็วสูงของจีน 1.จีนกว้างใหญ่มาก มีสภาพภูมิประเทศอากาศหลากหลาย แต่ด้วยเทคโนโลยีแก้ปัญหาทุกปัญหาที่เจอ มีประสบการณ์ในสภาพที่แตกต่างกันมาแล้ว ปลายปีนี้จีนมีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงรวมทั้งประเทศ 25,000 กิโลเมตร รวมระยะทางมากที่สุดในโลก คิดเป็นสัดส่วน 60% ของเส้นทางรถไฟความเร็วสูงทั้งหมดในโลก

2.โครงการรถไฟความเร็วสูงมีความหมายที่ยิ่งใหญ่ต่อประเทศจีนและประชาชนจีน เทคโนโลยีของจีนทำงานร่วมกับระบบต่างๆ ได้ ถ้าเปรียบกับของญี่ปุ่นจะวิ่งในเส้นทางนั้นโดยเฉพาะ จะไม่สามารถวิ่งในเส้นทางแบบอื่นได้ และรถไฟความเร็วสูงของจีนวิ่งในเส้นทางรถไฟธรรมดาได้ จึงเป็นประโยชน์กับประชาชน

ในส่วนรถรุ่นใหม่เส้นทางปักกิ่ง-จางเจียโขว่ กำลังจะวิ่งรถไฟรุ่นสมาร์ต หลังจากปีนี้ จีนอยากให้พัฒนารุ่นนี้อย่างเร็วที่สุด ในปีค.ศ.2022 หรือพ.ศ.2565 จีนเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว จะได้ลองนั่งเส้นปักกิ่ง-จางเจียโขว่ ไม่จำเป็นต้องมีคนขับ ไม่จำเป็นต้องใช้ตั๋ว ใช้วิธีตรวจใบหน้า ก็เข้าสถานีและรถได้แล้ว

นายทัง ฉีจื้อ หัวหน้าศูนย์ควบคุมใหญ่การรถไฟจีน กล่าวเสริมว่า มาตรฐานเทคโนโลยีสูงที่สุด เป็นระบบเทคโนโลยีที่ปลอดภัย วิ่งด้วยความเร็วสูง ความถี่ในการวิ่งอย่างสูง นั่งสะดวกสบาย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการสร้างทางยกระดับ

สำหรับรถไฟความเร็วสูงจีนขนส่งผู้โดยสารมากที่สุดในโลก ในปี 2559 จำนวน 1,443 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 60 ของการขนส่งผู้โดยสารทั้งหมด ของโลก

สุดท้ายรถไฟความเร็วสูงของจีนพัฒนาอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ปี 2555 ผู้โดยสารเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 30 ของทุกปี ปีที่แล้วรถไฟความเร็วสูงขนคนทั้งโลกได้ราว 7,700,000 คน ปีนี้น่าจะถึง 8 ล้านคน

ประโยชน์รถไฟความเร็วสูง สำหรับจีนสร้างกำไรอย่างมากให้การรถไฟ เพราะปกติการรถไฟได้กำไรน้อย แต่เส้นปักกิ่ง-กวางโจว ปักกิ่ง-ต้าเหลียน ปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ ที่วิ่งด้วยรถรุ่นใหม่ฝู่ชิง วิ่งได้ 350 ก.ม.ต่อชั่วโมง ได้กำไรแล้ว เส้นทางปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ ได้กำไรเมื่อปี 2557 ในปี 2559 ได้กำไร 8,800 ล้านหยวน หรือ 43,000 ล้านบาท

จีนมีศูนย์ฝึกทักษะรถไฟความเร็วสูงโดยเฉพาะแห่งแรกและแห่งเดียว เพื่อผลิตบุคลากรทั้งชาวจีนและต่างชาติ ป้อนนโยบายรถไฟความเร็วสูง ตั้งที่เมืองหวู่ฮั่น เมืองเอกของมณฑลหูเป่ย เมืองที่ใหญ่ที่สุดในภาคกลางของจีน ด้วยระบบรางสามารถติดต่อได้ 9 มณฑล

นายหวู ซือฉาง ประธานศูนย์ฝึกทักษะรถไฟความเร็วสูง เมืองหวู่ฮั่น กล่าวว่า สำนักนายกรัฐมนตรีไทยมาดูงานแล้ว รวมคนไทยมาดูงาน 120 คน โดยมาดูงานปีที่แล้ว 3 ครั้ง ปีนี้ 1 ครั้ง ด้าน สปป.ลาวเคยส่งคนมาฝึกแล้วที่นี่ ศูนย์เปิดมา 3 ปีแล้ว ผลิตพนักงานรถไฟความเร็วสูงได้ 67,000 คน เพียงพอต่อความต้องการ

สำหรับเส้นทางรถไฟความเร็วสูง หวู่ฮั่น-ปักกิ่ง ใช้เวลา 4 ชั่วโมง 20 นาที มี 26 เที่ยวต่อวัน ที่นั่งแบ่งเป็น 3 ระดับ ชั้นหนึ่ง 1,200 หยวน ราว 6,000 บาท ชั้นสอง 800 หยวน ราว 4,000 บาท และชั้นสาม 500 หยวน ราว 2,500 บาท จีนระบุว่า ผู้โดยสารสมัยนี้ชอบนั่งรถไฟความเร็วสูงเพราะสะดวกสบาย ปลอดภัย มีความเร็วสูง มีระบบขนส่งสาธารณะเชื่อมสถานี เช่น รถเมล์ รถใต้ดิน แท็กซี่ ช่วงวันชาติจีน 1 ต.ค.ของทุกปี มีผู้โดยสารเข้า-ออกสถานีแห่งนี้รวม 3 แสนคน

แม้เหตุการณ์ 6 ปีที่แล้วจากอุบัติเหตุรถไฟความเร็วสูงชนกันคร่าไปหลายชีวิตที่เหวินโจว มณฑลเจ้อเจียง สาเหตุมาจากการออกแบบซิมการ์ด ซึ่งเป็นชิ้นส่วนในการให้สัญญาณ คล้ายซิมการ์ดในโทรศัพท์ผิดพลาด

นายจ้าวระบุว่า เป็นกรณีคำเตือนสำหรับการรถไฟจีน ยอมรับว่ามีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ต่อการรถไฟจีนอย่างมาก ซึ่งในการขนส่งมวลชนให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยมากที่สุด

ดังนั้น การรถไฟจีนอัพเดตเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องได้ปรับแก้การบริหารเทคโนโลยี สร้างห้องแล็บหลายห้อง ทดลองให้สัญญาณก่อน ต้องผ่านการทดลองจึงติดตั้งจริง หากเจอในสภาพอากาศต่างๆ ทำงานเป็นปกติหรือไม่

เช่น ระบบให้สัญญาณ มีระบบป้องกันความปลอดภัย หากเจอสภาพแบบนี้ต้องมีระบบความปลอดภัย ลดความเร็วอย่างไร เมื่อปี 2555 ที่เกิดอุบัติเหตุ ศูนย์ควบคุมการรถไฟจีนยังไม่ได้พัฒนาถึง ขั้นนั้น

“ปัจจุบันจีนมีระบบป้องกันความปลอดภัย มีหน้าจอที่สามารถดูพื้นที่ที่วิ่ง พื้นที่ทำงานว่าวิ่งตามแผนหรือไม่ รับมือเหตุฉุกเฉินได้ โดยทุกวันนี้มีรถไฟความเร็วสูงวิ่งที่จีน 5,600 ขบวน ถือว่าเยอะมาก ที่ศูนย์ควบคุมแห่งนี้สามารถตรวจสอบได้ทั้งหมด” นายจ้าวกล่าว

สำหรับในโครงการลงทุนในต่างประเทศ ผ่านยุทธศาสตร์ข้อริเริ่ม 1 แถบ 1 เส้นทางเชื่อมกับอาเซียน ที่กำลังทำโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-ลาว-จีน เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าออนไลน์ ขณะนี้กำลังพิจารณาจะเชื่อมระหว่างไทย-จีน-ลาว รวมถึงกำลังพิจารณาเชื่อมมาเลเซียต่อไปด้วย โดยมาเลเซียกับสิงคโปร์มีโครงการเชื่อมรถไฟความเร็วสูงระหว่างกันอยู่แล้ว

เมื่อเห็นการส่งออกรถไฟความเร็วสูงของจีน ทำให้คิดถึงนโยบายการทูตหมีแพนด้า จีนส่งหมีแพนด้าเจริญสัมพันธไมตรีกับ นานาประเทศ เจ้าหน้าที่จีนระบุว่า ปัจจุบันยังไม่เป็นการทูตรถไฟความเร็วสูง

แต่ในอนาคตอาจเกิดขึ้นก็เป็นได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน