นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. … สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยในงานเสวนาเปิดรับฟังความเห็นร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ ว่า ที่ประชุมกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้มีการเสนอให้ปรับปรุงอัตราภาษีในพ.ร.บ.ที่ดินฯ ใหม่ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและให้เกษตรกร ผู้ประกอบการ รวมประชาชนได้ปรับตัวกับภาษีใหม่ โดยเสนอให้มีการปรับลดเพดานภาษีลง 40% จากมติที่ ครม.เห็นชอบ

ทั้งนี้ ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเกษตรกรรมให้ลดจากมติ ครม. 0.2% เหลือ 0.15% ที่อยู่อาศัยลดจาก 0.5% เหลือ 0.3% อื่นๆ นอกเหนือจากเกษตรและที่อยู่อาศัยลดจาก 2% เหลือ 1.2% และที่ดินว่างเปล่าหรือไม่ทำประโยชน์ ลดจาก 2% เพิ่มขึ้นอีก 0.5% ทุก 3 ปี แต่สูงสุดไม่เกิน 5% ให้ลดเหลือ 1.2% เพิ่ม 0.3% ทุก 3 ปี แต่สูงสุดไม่เกิน 3%

นอกจากนี้ ยังเสนออัตราภาษีที่จัดเก็บจริง โดยให้มีบัญชีอัตราภาษีแนบท้ายเพื่อจัดเก็บภาษีใน 2 ปีแรก และปีที่ 3 เป็นต้นไปให้เป็นไปตามร่างกฎหมายที่เสนอโดยให้รัฐบาลเป็นผู้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดภาษีที่เก็บจริง และกำหนดให้ยกเว้นภาษีในกรณีเกษตรกรรมและที่อยู่อาศัย ดังนี้ ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ให้เจ้าของที่เป็นบุคคลธรรมดาได้รับการยกเว้นมูลค่าของภาษีทั้งหมดของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในการคำนวนภาษีในเขตองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเดียวกันไม่เกิน 50 ล้านบาท

ส่วนกรณีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของใช้เป็นบุคคลธรรมดา สำหรับใช้เป็นที่อยู่อาศัย และมีชื่อในทะเบียนบ้านตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ของปีภาษีให้ได้รับการยกเว้นภาษีไม่เกิน 20 ล้านบาท แต่ในกรณีบุคคลธรรมดาเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้าง แต่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน และใช้สิ่งปลูกสร้างเป็นที่อยู่อาศัยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน จะได้รับการยกเว้นภาษีไม่เกิน 10 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในส่วนเจ้าของที่อยู่อาศัยต้องย้ายชื่อออกจากทะเบียนด้วยเหตุจำเป็นทางราชการ ให้เอาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างก่อนการย้ายชื่ออกจากทะเบียนเป็นตัวคำนวณยกเว้นภาษี

นายพรชัยกล่าวต่อว่า สำหรับอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่กรรมาธิการเสนอ ดังนี้ เกษตรกรรมที่มีบุคคลธรรมดาเป็นเจ้าของ 0-50 ล้านบาท ไม่เสียภาษี มูลค่า 50-75 ล้านบาท เก็บ 0.01% มูลค่า 75-100 ล้านบาท เก็บ 0.03% มูลค่า 100-500 ล้านบาท เก็บ 0.05% มูลค่า 500-1,000 ล้านบาท เก็บ 0.07% มูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท เก็บ 0.1% เกษตรกรรมที่มีนิติบุคคลป็นเจ้าของ มูลค่า 0-75 ล้านบาท เก็บ 0.01% มูลค่า 75-100 ล้านบาท เก็บ 0.03% มูลค่า 100-500 ล้านบาท เก็บ 0.05% มูลค่า 500-1,000 ล้านบาท เก็บ 0.07% มูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท เก็บ 0.1%

ขณะที่อยู่อาศัยกรณีที่เจ้าของเป็นบุคคลธรรมดา และเป็นเจ้าของดินและสิ่งปลูกสร้างรวมถึงมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน มูลค่า 0-20 ล้านบาท ไม่เสียภาษี มูลค่า 20-50 ล้านบาท เก็บ 0.02% มูลค่า 50-75 ล้านบาท เก็บ 0.03% มูลค่า 75-100 ล้านบาท เก็บ 0.05% มูลค่าเกิน 100 ล้านบาท เก็บ 0.1% ส่วนที่อยู่อาศัยหลังอื่นมูลค่า 0-50 ล้านบาท เก็บ 0.02% มูลค่า 50-75 ล้านบาท เก็บ 0.03% มูลค่า 75-100 ล้านบาท เก็บ 0.05% มูลค่าเกิน 100 ล้านบาท เก็บ 0.1% ส่วนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ 0-50 ล้านบาท เก็บ 0.3%มูลค่า 50-200 ล้านบาท เก็บ 0.4% มูลค่า 200-1,000 ล้านบาท เก็บ 0.5% มูลค่า 1,000-5,000 ล้านบาท เก็บ 0.6% และมูลค่าเกิน 5,000 ล้านบาท เก็บ 0.7%

นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มเติมบทเฉพาะกาลเพื่อบรรเทาภาระภาษีให้กับผู้เสียภาษีที่ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นจากเดิมใน 3 ปีแรก ให้มีการชำระภาษีตามจำนวนที่ต้องเสียหรือพึงชำระในปีก่อน รวมกับภาษีที่เหลือ ดังนี้ ปีแรก ภาษีเก่าบวก 25% ของจำนวนภาษีที่เหลือ ปีที่สอง ภาษีเก่าบวก 50% ของจำนวนภาษีที่เหลือ ปีที่สาม ภาษีเก่าบวก 75% ของจำนวนภาษีที่เหลือ และปีที่สี่จะต้องจ่ายเต็มจำนวน ตลอดจนยังอนุญาตให้มีการผ่อนชำระได้ด้วย สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้จะมีการนำผลจากการเปิดรับฟังความคิดเห็น ไปรวบรวมและปรับปรุงก่อนนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาในชั้นสภานิติบัญญัติวาระสอง และสามต่อไป เพื่อให้มีผลบังคับใช้ทันตามเป้าหมายในปี 2562

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ได้รับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 77 มาต่อเนื่อง กรรมาธิการลงพื้นที่สำรวจพื้นที่จริง 4 ครั้ง รัฐบาลตั้งใจออกกฎหมายเก็บภาษีที่ดินซึ่งเป็นการเก็บภาษีจากทรัพย์สิน ดำเนินการมาแล้ว 24 ปี 12 รัฐบาล ก็จะปิดตำนานออกกฎหมายให้ได้ในรัฐบาลนี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน