รายงานพิเศษ : ถึงเวลา‘ปลดล็อก’เศรษฐกิจไทย รมว.คลัง-ผู้ว่าฯธปท.ชี้ชะตาประเทศ

ถึงเวลา‘ปลดล็อก’เศรษฐกิจไทย รมว.คลัง-ผู้ว่าฯธปท.ชี้ชะตาประเทศ : เมื่อวันที่ 24 พ.ย. หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ในเครือมติชน จัดงานสัมมนาใหญ่ หัวข้อ “Thailand 2022 UNLOCK VALUE ก้าวสู่เส้นทางใหม่ไร้ขีดจำกัด” ที่สามย่าน มิตรทาวน์ มีผู้ร่วมงานอย่างคึกคัก

ไฮไลต์หนีไม่พ้น ‘กุนซือใหญ่’ เศรษฐกิจไทย ทั้ง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง และ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาร่วมวง ชี้ทางออกเศรษฐกิจไทย หลังยุคโควิด

ภายใต้ความเสี่ยงและโอกาสในการเดินหน้าประเทศ ในหัวข้อ “การเงิน-การคลัง กู้วิกฤติเศรษฐกิจไทย”

นายอาคมระบุว่า การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบเร่งด่วนผ่านการใช้เม็ดเงินเพื่อเข้ามาช่วยเหลือเยียวยาภาคประชาชน และภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการระบาดของโควิด-19 ถือเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อพยุงและประคองให้เศรษฐกิจไทยยังพอเติบโตได้บ้าง แม้ว่าจะไม่เต็มที่ก็ตาม

ถึงเวลา‘ปลดล็อก’เศรษฐกิจไทย รมว.คลัง-ผู้ว่าฯธปท.ชี้ชะตาประเทศ

เป็นผลให้ในช่วงปี 2563-2564 รัฐบาลกู้เงิน 1.5 ล้านล้านบาท เพื่อช่วยให้ประชาชนและภาคธุรกิจยังพอมีรายได้ไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

ทำให้ภาพรวมการบริโภคภาคประชาชนในปีนี้เติบโตได้ที่ 1.6% สะท้อนว่านโยบายด้านการคลังเปิดช่องให้ใช้จ่ายได้มากขึ้น

ขณะเดียวกันการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และการเปิดประเทศอย่างเต็มที่ในปี 2565 จะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจสามารถเดินหน้าได้ตามวิถี

ถึงเวลา‘ปลดล็อก’เศรษฐกิจไทย รมว.คลัง-ผู้ว่าฯธปท.ชี้ชะตาประเทศ

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการกู้เงินเพื่อใช้ดูแลและเยียวยาประชาชนจากผลกระทบของโควิด-19 ของรัฐบาลในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศเพิ่มขึ้น รัฐบาลจึงขยับเพดานหนี้สาธารณะเพิ่มจาก 60% ต่อจีดีพี เป็น 70% ต่อจีดีพี เพื่อเปิดช่องให้รัฐบาลมีช่องในการบริหารด้านคลังได้ อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่จะทำแบบสุดโต่งเกินไปก็คงไม่ได้ เพราะเรื่องนี้ถือเป็นความน่าเชื่อถือของประเทศ

“การกู้เงินเพื่อเยียวยาประชาชนนั้น ถือเป็นการช่วยเหลือแบบเฉพาะหน้า แต่เมื่อสถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้น การสร้างเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวและเดินหน้าต่อได้เป็นเรื่องสำคัญ การช่วยให้คนมีงานทำ มีรายได้เป็นของตัวเองเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการ เมื่อส่วนนี้เดิน หน้าได้ การเยียวยาและช่วยเหลือต้องลดลง แต่หันไปเน้นในเรื่องการแบ่งเบาภาระให้ประชาชนเพิ่มขึ้น”

รมว.คลังกล่าวและว่า รัฐบาลดำเนินการผ่านมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยเพื่อรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่คาดว่าจะมีการเปิดลงทะเบียนใหม่ในช่วงต้นปีหน้า

ดังนั้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังจากนี้ การพึ่งพาการเติบโตจากภายในและภายนอกประเทศต้องสมดุลกันมากขึ้น เน้นการเติบโตของเศรษฐกิจรายบุคคล รวมทั้งต้องมีเครื่องยนต์ใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลดำเนินการผ่านโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นกลไกใหม่ที่สำคัญที่ช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ในระยะถัดไป

การดำเนินการทั้งหมดจะต้องอยู่ภายใต้กรอบ กติกาของวินัยการเงินและการคลัง

ด้านนายเศรษฐพุฒิกล่าวว่า ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังเผชิญภาวะการระบาดของโควิด-19 การดำเนินนโยบายต่างๆ แบบไร้ขีดจำกัดจะมีผลข้างเคียง การประสานระหว่างนโยบายด้านการเงินและด้านการคลังเป็นเรื่องสำคัญ

ถึงเวลา‘ปลดล็อก’เศรษฐกิจไทย รมว.คลัง-ผู้ว่าฯธปท.ชี้ชะตาประเทศ

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

โดยนโยบายด้านการคลังมีจุดแข็งให้ผลเร็ว ตรงจุด ขณะที่นโยบายด้านการเงิน ต้องใช้เวลาในการส่งผ่านไปยังระบบ และให้ผลไม่ตรงจุด

ถึงเวลา‘ปลดล็อก’เศรษฐกิจไทย รมว.คลัง-ผู้ว่าฯธปท.ชี้ชะตาประเทศ

การใช้จุดแข็งของแต่ละนโยบายมาดำเนินการ จะทำให้เกิดประสิทธิภาพเต็มที่ที่สุด

การทำนโยบายต้องมีความยืดหยุ่น ไม่ยึดติด สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ แต่ทำแล้วเห็นผล ได้จริง

ส่วนมาตรการ ‘คิวอี’ นั้น ไม่เหมาะกับบริบทและไม่ตอบโจทย์กับประเทศไทย เนื่องจากจะส่งผลดีกับ ผู้ประกอบการรายใหญ่เป็นหลัก ขณะที่ผู้ประกอบการรายย่อยโดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด จะไม่ได้รับประโยชน์

“ที่ผ่านมา ธปท.พยายามเน้นการใช้เครื่องมือทางการเงินอย่างเต็มที่ และทำให้ถึงที่สุด การออกนโยบายจะมีการวางเป้าหมายให้ชัดเจน ต้องรับรู้ขีดจำกัด และคำนึงถึงขีดจำกัดของการใช้นโยบายทั้งภาคการเงินและการคลังที่จะต้องไม่สุดโต่ง เพราะจะมีผลข้างเคียง”

นายเศรษฐพุฒิกล่าวและว่า หลายประเทศที่ทำนโยบายการเงินแบบสุดโต่ง จะเห็นอัตราดอกเบี้ยที่ ต่ำมากๆ ขณะที่ฝั่งการคลังกระตุ้นอย่างเต็มที่ สุดท้ายหนี้สาธารณะสูงขึ้น ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนหนี้สาธารณะของทั่วโลกสูงสุดนับตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

ขณะที่ต้นทุนการกู้ยืมเงินต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ แต่การทำนโยบายเศรษฐกิจแบบนี้นานเกิดไปก็จะเกิด ความเสี่ยงต่อเสถียรภาพ ซึ่งจะทำให้ทุกอย่างในระบบเศรษฐกิจรวนไปหมด ดังนั้นนโยบายการเงินและ การคลังจะต้องไปด้วยกัน ขาดฝั่งใดฝั่งหนึ่งไม่ได้” นายเศรษฐพุฒิกล่าว

ผู้ว่าฯ ธปท.บอกอีกว่า ปัญหาเรื่องแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นกว่าคาดการณ์ จนทำให้หลายฝ่ายเป็นห่วงว่าธนาคารกลางของกลุ่มประเทศหลักจะปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด ส่งผลให้ตลาดการเงินผันผวนนั้น ถือเป็นอีกสัญญาณหนึ่งที่ ธปท.จับตามอง และไม่ชะล่าใจ แม้ว่าจะไม่เป็นความเสี่ยงกับเศรษฐกิจไทยก็ตาม

เนื่องจากความเสี่ยงเรื่องความเปราะบางของเศรษฐกิจไทยต่อการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของโลกนั้นยังไม่น่าจะเยอะ เนื่องจากต่างชาติไม่มีน้ำหนักมากนักในการลงทุนในตลาดพันธบัตรไทยเมื่อเทียบกับภูมิภาค

ดังนั้น แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกจะปรับตัวสูงขึ้น โอกาสที่จะทำให้อัตราดอกเบี้ยของไทยปรับขึ้นเร็วและแรงไม่น่าจะเห็น หรือหากปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจริง ผลที่ส่งผ่านไปยังระบบเศรษฐกิจจริงไม่น่าจะเยอะ

สัญญาณเตือนภัยที่น่าจับตามองสำหรับเศรษฐกิจไทย คือการฟื้นตัวที่คาดว่าจะช้าและไม่เท่าเทียมกัน ประเมินว่าจะได้เห็นตัวเลขเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยกลับมาเติบโตใกล้เคียงระดับก่อนการระบาดได้ในปี 2566 แต่เป็นการฟื้นเชิงตัวเลขเท่านั้น

ขณะที่ความรู้สึกของคนทั่วไปจะไม่รู้สึกว่าฟื้นตัว โดยเฉพาะในตลาดแรงงาน และรายได้ของคนจะฟื้นตัวช้ากว่าตัวเลขจีดีพี เพราะไทยพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยว ที่แม้ปัจจุบันจะเปิดประเทศแล้ว แต่มองว่ามีความเสี่ยงที่จะไม่เห็นตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ 6 ล้านคนตามที่คาดการณ์

รวมทั้งปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ยังเป็นความเสี่ยงอยู่ ดังนั้นแม้หลายฝ่ายหวังว่าการเปิดประเทศจะเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็เป็นการดีแบบไม่ทั่วถึง

“โจทย์สำคัญของการทำนโยบายเศรษฐกิจ คือทำอย่างไรให้การฟื้นตัวไม่สะดุด ตลาดการเงินไม่เกิดปัญหาทั้งในด้านความสามารถการชำระหนี้ และหนี้เสียไม่เพิ่มขึ้น ทุกอย่างต้องสมูทที่สุด ตรงจุด เพื่อช่วยเหลือภาคเศรษฐกิจที่อาจจะฟื้นตัวล่าช้า เฉพาะเฉพาะเศรษฐกิจขาล่าง มองว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญของนโยบายการคลัง”

นายเศรษฐพุฒิกล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนนโยบายการเงินจะต้องทำงานที่ช่วยสนับ สนุนการฟื้นตัวในส่วนดังกล่าวด้วย ต้องยอมรับว่านโยบายการคลังยังเป็นพระเอก ในการกอบกู้เศรษฐกิจขาล่าง เพราะแรง และตรงจุด

ในปี 2563 เศรษฐกิจขยายตัวติดลบ 6% แต่หากไม่มีนโยบายการคลัง ไม่กู้เงินมาช่วยจะเห็นเศรษฐกิจติดลบถึง 9%

ส่วนปี 2564 คาดว่าจะโตได้ 0.7% แต่ถ้าไม่มีนโยบายการคลังจะเห็นเศรษฐกิจติดลบ 4% เช่นเดียวกับปีหน้า

เบ็ดเสร็จพบว่าในช่วง 3 ปี (2563-2565) นโยบายการคลังจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจโตเพิ่มได้ 10.8%

มองไปข้างหน้า เศรษฐกิจไทยยังคงมีความเสี่ยง แม้ว่าจะเริ่มฟื้นตัว แม้ว่าจะเริ่ม ‘ปลดล็อก’ ได้แล้ว แต่ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ตลอดจนกำลังในการดูแลเศรษฐกิจอาจไม่เหมือนเดิม

นับเป็นการส่งสัญญาณจาก ‘คลัง-ธปท.’ ถึงคนในประเทศ ที่ต้องจับตากันต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน