สกนช. ลั่นจับตามติ กบง. ตรึงราคาแอลพีจีต่อ 1-2 เดือน – เปิด 4 แผนหลักบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงปี’65

สกนช. จับตามติกบง. – นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า ภายในวันที่ 23 ธ.ค. 2564 นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน เป็นประธาน เพื่อหารือถึงแนวทางการอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ที่เดิมตรึงไว้ 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม (ก.ก.) ซึ่งจะหมดอายุมาตรการในวันที่ 31 ธ.ค.นี้ โดยอาจมีการพิจารณาแบ่งออกเป็น 2 แนวทางคือใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาตรึงราคาต่ออีก 1-2 เดือน หรืออาจต้องให้ราคาขายปลีกขยับขึ้นเป็นขั้นบันได

“หากจะมีการขยับขึ้นจริง ก็ควรขยับให้เป็นขั้นบันไดในระยะเวลาประมาณ 3-4 เดือน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภคและประชาชนชนผู้ใช้แก๊ส โดยอาจขยับขึ้นเดือนละ 1 บาทต่อแก๊ส 1 กก. จนกว่าจะถึง 363 บาทต่อถังขนาด 15 ก.ก. แต่ทั้งนี้ ต้องดูมติ กบง. ต่อไปว่าจะดำเนินไปในแนวทางใด”นายวิศักดิ์ กล่าว

สำหรับทิศทางการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในปี 2565 สกนช. จะเน้นแผนปฏิบัติงาน 4 เรื่อง ได้แก่ 1. การทบทวนแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งแผนดังกล่าวระบุให้มีการทบทวนแนวทางรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และหลักเกณฑ์การบริหารกองทุนน้ำมันฯ โดยจะนำตัวเลขด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องมาศึกษาทบทวนเพื่อกำหนดระดับราคาวิกฤตด้านราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ตลอดจนทบทวนสถานการณ์ต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลก

2. ระบบติดตามและการเชื่อมโยงข้อมูลกรมสรรพสามิต และ สกนช. โดยจัดให้มีระบบฐานข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการเบิกจ่ายเงินชดเชยให้เกิดความรวดเร็วและถูกต้อง 3. การทบทวนแผนยุทธศาสตร์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ปี 2566-2670 ซึ่งแผนยุทธศาสตร์ฉบับใหม่จะมุ่งเน้นให้สอดคล้องแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการ การบริหารจัดการกองทุนน้ำมันฯ

และ 4. แผนลดการชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งตามมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ให้หยุดชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพภายใน 3 ปี และสามารถขยายเวลาการลดการชดเชยได้ 2 ครั้งๆ ละ 2 ปี แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และความเห็นของ สศช. ในการลดการชดเชยให้คำนึงถึงเกษตรกร สกนช. จึงได้หารือกับสมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลไทย และสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำแผนขอขยายการชดเชยโดยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่างๆ ในปัจจุบัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน