นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ กยศ. ได้เห็นชอบแนวทางการหักเงินเดือนแก่ผู้กู้ยืมเงินจากกองทุนฯ ตามกฎหมายพ.ร.บ. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ฉบับใหม่เรียบร้อยแล้ว โดยจะเริ่มหักเงินเดือนลูกหนี้ที่เป็นข้าราชการของกรมบัญชีกลางเพื่อชดใช้หนี้ได้เป็นกลุ่มแรกในเดือนมี.ค. 2561 หลังจากนั้นจะมีการขยายไปสู่การหักเงินเดือนข้าราชการหน่วยงานอื่นๆ และลูกจ้างบริษัทเอกชนได้ภายในสิ้นปีหน้า

“ตามแผนของกยศ.ช่วงเดือนม.ค.-ก.พ. 2561 จะเป็นช่วงที่มีการประชุมและเตรียมความพร้อมกับหน่วยงานราชการ และเดือนมี.ค. จะเริ่มนำร่องหักเงินเดือนลูกหนี้ที่เป็นข้าราชการในกรมบัญชีกลางได้ก่อน 1,000 คน ซึ่งเป็นลูกหนี้ที่มีการค้างชำระและมีการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องร้อง หรือประนีประนอมในชั้นศาลแล้ว โดยหักเงินเดือนตามจำนวนที่ตกลงกันไว้ ส่วนลูกหนี้ที่มีการผ่อนชำระปกติจะยังไม่มีการหักเงินเดือนแต่ให้ผ่อนชำระตามขั้นตอนปกติเหมือนเดิม”

ทั้งนี้ ในช่วงทดลองระบบหากขั้นตอนการหักเงินเดือนข้าราชการกรมบัญชีกลางราบรื่นไปด้วยดี ระยะต่อไปจะขยายไปสู่การหักเงินเดือน ข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ รวมถึงลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระแต่ยังไม่ถูกฟ้อง หรือลูกหนี้ที่ผ่อนชำระปกติต่อไป โดยปัจจุบันมีข้าราชการเป็นลูกหนี้กับ กยศ.ประมาณ 150,000 ราย ในจำนวนนี้มีการผ่อนชำระปกติ 8 หมื่นราย อีก 6 หมื่นรายเป็นกลุ่มที่มีการค้างชำระ

นายชัยณรงค์กล่าวว่า สำหรับการหักเงินเดือนลูกหนี้ที่เป็นลูกจ้างบริษัทเอกชนเพื่อชดใช้หนี้ จะเริ่มได้ไตรมาส 4 ปีหน้า เนื่องจากเป็นลูกหนี้กลุ่มใหญ่หลายล้านบัญชีจึงต้องมีการพัฒนาระบบ และให้ความรู้กับนายจ้างเอกชนอย่างทั่วถึงก่อนดำเนินการ ซึ่งขณะนี้ กยศ. ร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาองค์กรนายจ้างแห่งประเทศไทย เพื่อเดินสายให้ความรู้แก่ภาคเอกชนทั่วประเทศแล้วก่อนจะมีการหักเงินเดือนจริงช่วงสิ้นปี

นอกจากนี้ ยังขอฝากเตือนไปยังลูกหนี้ กยศ.ที่ได้รับจดหมายแจ้งเตือนการชำระหนี้ ให้เข้ามาติดต่อเพื่อประนีประนอมกับ กยศ. เป็นการด่วน เนื่องจากกองทุนมีนโยบายในการช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้ให้ และสามารถผ่อนชำระได้ถึง 9 ปีเต็ม แต่หากลูกหนี้ไม่ติดต่อเข้ามาจะถูกฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด ซึ่งในปี 2560 กยศ.มีการฟ้องร้องลูกหนี้ทั้งระบบไป 1.3 แสนราย คิดเป็นวงเงิน 13,000 ล้านบาท โดยมีการยอดการฟ้องร้องดำเนินคดีรวมตั้งแต่ปี 2547 ถึงปัจจุบัน 1.2 ล้านคดี ในจำนวนนี้สามารถยอมความได้ 70-80% ขณะเดียวกันได้มีการนำลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการยึดทรัพย์ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาถึง 2 แสนราย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน