ตรุษจีนปี’65 เงินสะพัดต่ำกว่า 4 หมื่นล้านครั้งแรกในรอบ 11 ปี ประชาชนห่วงปัญหาเศรษฐกิจของแพง จับตาคนรายได้ต่ำกว่า 2 หมื่นหนี้ท่วม

ตรุษจีนเงินสะพัดต่ำสุดรอบ11ปี – นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงผลสำรวจทัศนะ และพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนและผู้ประกอบการในช่วงเทศกาลตรุษจีนและความเห็นต่อประเด็นต่างๆ ในปัจจุบัน ว่า จากการสำรวจระหว่างวันที่ 17-24 ม.ค. 2565 กลุ่มตัวอย่าง 1,250 ตัวอย่างทั่วประเทศ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 61.9% ไม่ไหว้เจ้า ส่วน 38.1% ไหว้ซึ่งลดลงจากปี 2564 ที่ไหว้ 41.9%

และจากการสำรวจเฉพาะในกลุ่มของคนที่ไหว้เจ้ามีถึง 77.1% ไม่เดินทางท่องเที่ยว ส่วนกลุ่มที่ไป 22.9% ไปเช้าเย็นกลับ 11.8% ค้างคืน 11.1% โดยในปีก่อนไปมีเพียง 8.5% ส่วนการวางแผนท่องเที่ยวนั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 36.3% ระบุว่าจะใช้เวลา 2-5 วัน ออกเดินทางวันที่ 1 หรือ 2 ก.พ.

ส่วนค่าใช้จ่าย สถานที่แหล่งซื้อของเซ่นไหว้ 60.4% คือ ตลาดสด รองลงมาคือ ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ห้างสรรพสินค้า ผ่านออนไลน์ รูปแบบของการซื้อ รับสินค้าสำหรับของเซ่นไหว้ 95.2% ไปรับด้วยตนเอง โดยคาดว่าจะมีเงินสะพัด 39,627.79 ล้านบาท โดยเป็นการติดลบต่อเนื่องมาจากตั้งแต่ 2563

สำหรับสิ่งที่เป็นห่วงในช่วงเทศกาลตรุษจีนคือ การขึ้นราคาสินค้าที่จำเป็นในช่วงเทศกาล ค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวแพงขึ้น ความปลอดภัยของบ้านพักในช่วงที่ไปค้างที่อื่น การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่วนประเด็นการขึ้นราคาของหมูกระทบต่อการใช้จ่ายในช่วงเวลาต่างๆ อย่างไร ในช่วงเทศกาลกลุ่มตัวอย่าง ส่วนใหญ่ 42.3% ตอบว่ามูลค่าลดลง และ 64.4% ตอบว่าปริมาณลดลง ในช่วงปกติ 32.3% ตอบว่ามูลค่าลดลง 54.7% ตอบว่าปริมาณลดลง

สถานภาพหนี้ครัวเรือน ในปัจจุบันเทียบกับปีก่อน 38.7% ระบุว่าเพิ่มขึ้น หนี้เท่าเดิม 38.4% หนี้ลดลง 22.9% และพบว่าผู้ที่มีรายได้น้อยจะมีหนี้มากกว่ารายได้ คือต่ำกว่า 5,000 บาทต่อเดือน 43.5% รายได้ 5,000-10,000 บาท 39.2% รายได้ 10,001-20,000 บาท 15.7% และในกลุ่มคนเหล่านี้ยังพบว่าส่วนใหญ่ มีหนี้พอๆ กับรายได้ ส่วนผลจากภาระหนี้สินในปัจจุบันผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 5,000 บาท 34.8% ระบุว่า ทำให้ความเป็นอยู่แย่ลงมาก แย่ลง 39.1% รายได้ 5,000-10,000 บาทตอบว่าให้ความเป็นอยู่แย่ลงมาก 27.2% แย่ลง 29.6%

ส่วนความทนทานต่อภาระหนี้กรณียังไม่มีรายได้เพิ่มเข้ามาเป็นปกตินั้น ทนได้ 1-6 เดือน 13.7%, 6-12 เดือน 46.4%, 1-2 ปี 19.4%, 2 ปีขึ้นไป 20.5% ส่วนการขยายตัวทางเศรษฐกิจนั้นกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 49.0% ระบุว่าจะขยายตัวต่ำกว่า 2.50%

นอกจากนี้ ยังได้สำรวจทัศนะของผู้ประกอบการในช่วงเทศกาลตรุษจีน 620 ตัวอย่าง พบว่า ส่วนใหญ่ 47.4% เห็นว่าคึกคักน้อยกว่าปีที่ผ่านมา

นายธนวรรธน์ กล่าวอีกว่า ศูนย์พยากรณ์ฯ สรุปได้ว่าตรุษจีนปีนี้ไม่ค่อยคึกคักเพราะมีเงินสะพัดเพียง 3.6 หมื่นล้านบาทเท่านั้น แม้ว่าคนจะเริ่มปรับตัวจากการระบาดของโควิดได้แล้วแต่ราคาสินค้ากลับแพงขึ้นและประชาชนมีความกังวลเรื่องปัญหาเศรษฐกิจและปากท้อง ทำให้มูลค่าการใช้จ่ายของปีนี้ลดลงต่ำกว่า 4 หมื่นล้านบาท เป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี และที่น่าจับตาดูคือการที่รายได้ของประชาชนที่ลดลงส่งผลทำให้เป็นหนี้และมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มของผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 20,000 บาท

รัฐบาลยังจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเติมเงินลงไปในกระเป๋าของประชาชน เพื่อช่วยพยุง เศรษฐกิจในช่วงที่สถานการณ์ราคาสินค้าราคาแพง และรัฐบาลจำเป็นที่จะต้องดูแล ควบคุมโควิด-19 ให้ได้ในช่วงไตรมาสแรกของปี เพื่อที่จะเดินหน้าเศรษฐกิจ ให้ฟื้นตัวเต็มที่ได้ตั้งแต่ในช่วงไตรมาสที่ 2 ร่วมกับการใช้มาตรการที่มีการผ่อนคลายทางเศรษฐกิจต่างๆ

โดยศูนย์พยากรณ์ฯมองว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ 3.5% อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความเป็นห่วงสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อาจปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับค่าขนส่ง ที่ยังคงมีราคาสูงและมีผลกับการส่งออกในช่วงครึ่งปีแรก และจากการที่ IMF ได้มีการประเมินเศรษฐกิจของโลกปีนี้ขยายตัวลดลง จากประมาณการเดิม 4.9% เหลือ 4.4% เศรษฐกิจสหรัฐ ขยายตัวลดลงจาก 5% เหลือ 4% เศรษฐกิจจีนเติบโตต่ำกว่า 5% และราคาน้ำมันในตลาดโลกอาจขยับตัวอยู่ที่ 90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เป็นปัจจัยที่น่าจะมีความกังวลเพราะจะส่งผลกระทบกับการค้าโลกในภาพรวมรวมถึงการค้าของประเทศไทยด้วยจึงต้องมีการจับตาเป็นพิเศษอีกด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน