‘สุชาติ’ โวพร้อมส่งแรงงานไทยไปซาอุฯ เผยเงินเดือนสูงสุด 1.2 แสนบาทต่อเดือน มีสวัสดิการ อาหาร ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ที่อยู่พร้อม

เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน กล่าวว่า ภายหลังการเดินทางร่วมคณะกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เยือนซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการในวันที่ 25-26 ม.ค.นี้ ตามคำเชิญของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมารรองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมซาอุดีอาระเบีย ส่วนหนึ่งของนโยบายตามวิสัยทัศน์ซาอุดีอาระเบีย 2030 (Saudi Vision 2030) ที่ต้องการเปิดประเทศไม่พึ่งพารายได้จากพลังงานเพียงอย่างเดียว

ทั้งนี้ ในการเดินทางเยือนซาอุฯ มีโอกาสพบและหารือกับนายอะห์หมัด บิน สุไลมาน อัลรอยิฮี รมว.ทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาสังคม หรือรัฐมนตรีแรงงานของซาอุดิอาระเบีย พบว่าซาอุฯ ต้องการแรงงานจำนวนมาก ถือเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายตามวิสัยทัศน์ซาอุดีอาระเบีย 2030 (Saudi Vision 2030) ที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก จึงจำเป็นต้องมีการก่อสร้างโรงแรม อาคารต่างๆ อีกมากมาย

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า การบริหารจัดการการท่องเที่ยว ทำให้ซาอุฯ ต้องการแรงงานจำนวนมาก เป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการ โดยแรงงานที่ซาอุฯ ต้องการมี 3 ระดับ คือ 1.แรงงานฝีมือ กลุ่มนี้เป็นแรงงานที่มีทักษะสูง อาทิ วิศวกรก่อสร้าง เงินเดือนจะอยู่ที่ประมาณ 1.2 แสนบาทต่อเดือน 2.แรงงานกึ่งฝีมือ อาทิ ช่างเครื่องจักร โฟร์แมนในการควบคุมการก่อสร้าง เชฟปรุงอาหาร เป็นต้น กลุ่มนี้จะมีเงินเดือนขั้นต่ำ 25,000 บาทต่อเดือน แต่มีสวัสดิการ มีอาหาร มีประกันสุขภาพ ประกันชีวิต มีที่อยู่อาศัย เงินเดือนเหลือเก็บ และแรงงานไร้ฝีมือ

นายสุชาติ กล่าวอีกว่า เชื่อว่าในจำนวนแรงงานที่ซาอุฯ ต้องการประมาณ 8 ล้านคน ไทยคงส่งไปได้จำนวนไม่น้อย ในระดับแรงงานฝีมือ และแรงงานกึ่งฝีมือ ที่ผ่านมาเมื่อ 30 ปีก่อนไทยเคยส่งแรงงานไร้ฝีมือไปก่อสร้างเป็นกรรมกรที่ซาอุฯ ประมาณ 2 แสนคนต่อปี ขณะนี้ข้อมูลล่าสุดเมื่อปี 2564 แรงงานไทยที่ไปทำงานอยู่ในซาอุดีอาระเบีย จำนวน 1,345 คน (ข้อมูล ณ ธ.ค.2564)

“การผลักดันความร่วมมือด้านแรงงานให้เกิดขึ้นโดยเร็ว หลังจากเดินทางเยือนซาอุฯแล้ว ไม่เกิน 30-45 วัน ทั้ง 2 ประเทศคือไทยและซาอุฯ ต้องได้ทำเอ็มโอยูระหว่างกัน ซึ่งเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีได้กำชับกระทรวงแรงงานให้เข้มงวดและตรวจสอบรายละเอียดของการทำงาน เพื่อให้เกิดความปลอดภัย ทั้งในเรื่องของค่าจ้าง การหักหัวคิวของบริษัทจัดส่งแรงงานไปต่างประเทศ ความปลอดภัยของคนไทย มุ่งรักษาสิทธิของลูกจ้าง และลดความขัดแย้งระหว่างลูกจ้างและนายจ้าง”

นายสุชาติ กล่าวอีกว่า ทางรัฐมนตรีแรงงานของซาอุฯ ได้สอบถามปัญหาและอุปสรรคของทางการไทย หากจำเป็นต้องส่งแรงงานไปซาอุฯ จะสามารถทำได้หรือไม่อย่างไร และเนื่องจากไทยไม่ได้จัดส่งแรงงานไปซาอุฯ นานมาก ทำให้ทางรัฐมนตรีแรงงานของซาอุฯ ได้สอบถามถึงวิธีดำเนินการว่าจะทำอย่างไร ในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ตนได้ตอบไปว่าปกติจะต้องดำเนินการแบบรัฐต่อรัฐ หรือ จีทูจี รัฐบาลต้องทำสัญญาระหว่างกันก่อน ภายใต้หลักการรัฐจัดส่งเอกชนจัดหา

“การจัดส่งแรงงานระหว่างกัน เอกชนในระดับคนทำงานเขามีความสามารถ เขาสามารถดำเนินการได้เลย ขอเพียงให้ได้รับสัญญานจากรัฐบาลเท่านั้นว่าแรงงานไทยสามารถไปทำงานซาอุฯ ได้แล้ว ส่วนคำถามที่ว่าแรงงานมีหลากหลายระดับ โดยเฉพาะแรงงานมีฝีมือ และแรงงานกึ่งฝีมือไทยจะมีจัดส่งหรือไม่ เรื่องนี้ผมได้ยืนยันกับทางซาอุฯ ว่าสามารถดำเนินการได้ เพราะไทยมีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สามารถพัฒนาแรงงานไทยให้ตรงกับความต้องการของผู้จ้าง” นายสุชาติ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน