ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ ชี้ ปีนี้ที่อยู่อาศัย กทม.-ปริมณฑล ราคาพุ่ง เหตุต้นทุนก่อสร้างแพง- คาดยอดเปิดตัวโครงการใหม่เพิ่มเท่าตัว มูลค่ารวม 4.28 แสนล้านบาท

นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่าในปี 2565 ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์คาดว่าจะมีโครงการที่อยู่อาศัยกรุงเทพฯ-ปริมณฑล เปิดตัวใหม่เพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว หรืออยู่ที่ 81,226 ยูนิต คิดเป็นมูลค่า 4.28 แสนล้านบาท ใกล้เคียงค่าเฉลี่ยก่อนเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด และเทียบปี 2564 ถือเป็นปีที่มีโครงการเปิดตัวใหม่ต่ำที่สุดในรอบ 11 ปี นับตั้งแต่ปี 2554 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ โดยมียอดเปิดตัวใหม่เพียง 46,602 ยูนิต มูลค่ารวม 1.91 แสนล้านบาท ซึ่งลดลงจากปีก่อนหน้า 29.6 และ 42.8% ตามลำดับ
ขณะที่ยอดโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศปีนี้คาดว่าจะ ยู่ที่ 3.32 แสนยูนิต เพิ่มขึ้น 25% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 9.1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.3 % โดยการโอนแนวราบจะเพิ่มขึ้น 10.2% ขณะที่ยอดโอนคอนโดมิเนียม 20.2%

สำหรับปัจจัยที่ต้องจับตาในปีนี้มีทั้งปัจจัยบวกและลบ โดยปัจจัยบวกมาจากมาตรการลดค่าธรรมเนียมโอนและจดจำนองเหลือ 0.01% (รวมบ้านมือสอง) มาตรการผ่อนคลายแอลทีวีที่ช่วยให้การซื้อบ้านสัญญาที่ 2 และ 3 เพื่ออยู่อาศัยและลงทุนมีเพิ่มมากขึ้น สภาพคล่องของธนาคารมีมากพอสำหรับปล่อยสินเชื่อ และคาดปีนี้ยอดสินเชื่อปล่อยใหม่จะขยายตัวได้ 2.5% หรืออยู่ที่ 6.27 แสนล้านบาท ส่วนผู้ประกอบการยังคงแข่งขันลดราคาและของแถม

ขณะที่ปัจจัยลบ แนวโน้มดอกเบี้ยมีโอกาสปรับขึ้น 0.50 บาท การแพร่ระบาดของโควิด สายพันธุ์โอมิครอน ที่ยังไม่ชัดเจนว่าจะขยายความรุนแรงขึ้นหรือไม่ ขณะที่ภาวะหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูงถึง 90% ของจีดีพี การจ้างงานและการมีรายได้ของประชาชนที่อาจทำให้ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดไว้ รวมถึงอัตราหนี้เสียของสถาบันการเงิน อาจจะส่งผลให้สถาบันการเงินระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อใหม่ ต้นทุนค่าก่อสร้างแพงขึ้น ทำให้ราคาที่อยู่อาศัยใหม่อาจปรับราคาขึ้น และภาวะเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัวดีจากกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยเฉพาะจีน ซึ่งเป็นฐานลูกใหญ่ในตลาดคอนโดมิเนียมไทย ทำให้ประเมินได้ว่าตลาดคอนโดมิเนียมในปีนี้ก็ยังไม่ดีขึ้น เนื่องจากต่างชาติมีสัดส่วนการโอนสูงถึงเกือบ 4 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 16% ของยอดโอนคอนโดมิเนียมในปีที่ผ่านซึ่งอยู่ที่ 2.53 แสนล้านบาท แต่อย่างไรก็ดีหากสถานการณ์โควิดคลี่คลายและสิ้นสุดภายในปีนี้ คาดว่าภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยจะกลับเจ้าสู่ภาวะปกติได้ในปี 2566

นายวิชัย กล่าวด้วยว่า ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจของตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2564 พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงของการออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดินทั่วประเทศลดลงถึง 23.9% จากปี 2563 หรืออยู่ที่ 66,835 หน่วยโดยลดลงต่ำสุดในรอบ 15 ปี นับตั้งแต่ปี 2550 แต่ยังสูงกว่าปี 2549 ที่เกิดรัฐประหาร ซึ่งมีการออกใบอนุญาตจัดสรรจำนวน 50,109 หน่วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน