สภาพัฒน์สั่งจับตาหนี้รอเน่า 3.6 แสนล้าน ล็อกดาวน์เป็นเหตุทำคนรายได้ขาดมือก่อคดีพุ่งพรวด – เด็กจบใหม่ยังครองแชมป์เตะฝุ่น

สภาพัฒน์สั่งจับตาหนี้เน่า – น.ส.จินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ภาวะสังคมไทยในไตรมาส 4/2564 และภาพรวมปี 2564 ในส่วนของสถานการณ์แรงงานไตรมาส 4/2564 ภาพรวมการจ้างงาน 37.9 ล้านคน ลดลง 1% จากการลดลงของกำลังแรงงาน ขณะที่การว่างงานลดลงต่ำสุดตั้งแต่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หรือตั้งแต่ ไตรมาส 2/2563 อยู่ที่ 1.64% มีผู้ว่างงานรวม 6.3 แสนคน และทั้งปี 2564 ที่ 1.93% หรือประมาณ 7 แสนคน เพิ่มจากปี 2563 ที่ 1.69% หรือประมาณ 6.5 แสนคน เป็นผลกระทบสะสมตั้งแต่ต้นปี 2564

ทั้งนี้ แรงงานใหม่เพิ่มเข้าสู่ตลาดแรงงานเพิ่มขึ้น 4.1% โดยเฉพาะกลุ่มว่างงานที่จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่สัดส่วน 49.3% เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 2/2563 ซึ่งจบการศึกษาในสาขาสังคมศาสตร์ ธุรกิจ บริหาร และพาณิชยศาสตร์ และเมื่อพิจารณาอัตราว่างงานตามระดับการศึกษา พบว่า กลุ่มผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ยังว่างงานสูงสุดที่ 3.22%

ขณะที่หนี้สินครัวเรือนในไตรมาส 3/2564 ขยายตัวชะลอลง อยู่ที่ 14.35 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.2% ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 5.1% ความสามารถในการชำระหนี้ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย มีหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ 1.5 แสนล้านบาท คิดเป็น 2.89% ต่อสินเชื่อรวม ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 2.92% แต่ต้องเฝ้าระวังปัญหาหนี้เสียอย่างใกล้ชิด เนื่องจากสินเชื่อค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน ที่มีมูลค่ารวม 3.6 แสนล้านบาท มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากมีปัจจัยลบมากระทบต่อรายได้ครัวเรือนอาจส่งผลให้หนี้เสียปรับเพิ่มขึ้นได้

น.ส.จินางค์กูร กล่าวว่า คาดว่าในไตรมาส 4/2564 แนวโน้มหนี้ครัวเรือนจะยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยมีสาเหตุจาก 1. ครัวเรือนที่มีรายได้สูง ไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มีแนวโน้มก่อหนี้เพิ่ม โดยเฉพาะสินเชื่อยานยนต์ สะท้อนจากยอดจองในงานมอเตอร์เอ็กซ์โป 2021 เกินเป้าหมาย 3 หมื่นคัน และ 2. กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ยังมีความต้องการสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคล เพื่อนำมาชดเชยสภาพคล่องจากรายได้ที่ยังไม่ฟื้นตัว

“ในระยะต่อไปควรเร่งดำเนินการมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ที่ชะลอการจ่ายหนี้แบบชั่วคราว เช่น ขยายเวลา การพักชำระหนี้ ซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งส่งเสริมให้ครัวเรือนเข้าถึงสินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง และได้รับการจ้างงานที่มีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย”น.ส.จินางค์กูร กล่าว

น.ส.จินางค์กูร กล่าวว่า ในด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน พบว่า ไตรมาส 4/2564 คดีอาญารวม มีการรับแจ้ง 1.17 แสนคดี เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 43.7% เป็นการรับแจ้งคดียาเสพติดเป็นหลัก 1 แสนคดี ส่วนผลจากการใช้มาตรการโควิด-19 อย่างเข้มงวดในปี 2564 เช่น การล็อกดาวน์ ปิดแคมป์คนงาน ส่งผลให้ประชาชนมีรายได้ลดลง เกิดปัญหาว่างงาน ทำให้เกิดปัญหาอาชญากรรมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะยาเสพติด สูงถึง 4.6 แสนคดี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน