นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า จัดพิธีลงนามข้อตกลงตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระหว่างกรมสรรพสามิตกับผู้ประกอบอุตสาหกรรมที่พร้อมเข้าร่วมมาตรการเพื่อรับสิทธิประโยชน์จากการนำเข้าและผลิตรถยนต์แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle: BEV) ทั้งภาษีศุลกากร ภาษีสรรพสามิต และเงินอุดหนุนจำนวน 70,000 หรือ 150,000 บาทต่อคัน ขึ้นอยู่กับขนาดของแบตเตอรี่ จำนวน 2 ราย ได้แก่ 1. บริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด และ 2. บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด และ บริษัทเอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด

ทั้งนี้ เมื่อได้ลงนามในข้อตกลงแล้ว ผู้ประกอบอุตสาหกรรมทั้ง 2 ราย จะได้รับสิทธิในการรับเงินอุดหนุนจากการจำหน่าย ซึ่งราคาที่แสดงในงานมอเตอร์โชว์จะเป็นราคาขายปลีกแนะนำที่ได้รับเงินอุดหนุนตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าแล้ว และคาดว่าจะมีผู้ประกอบอุตสาหกรรมและผู้นำเข้ารถยนต์และรถจักรยานยนต์ประมาณ 5-7 รายรอเข้าร่วมลงนามข้อตกลงในอนาคตอันใกล้นี้ต่อไป

“กรมสรรพสามิตได้อนุมัติโครงสร้างราคารถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับเงินอุดหนุนตามมาตรการเรียบร้อยแล้ว ซึ่งราคาดังกล่าวจะถูกส่งไปยังประชาชนที่ซื้อรถอย่างแท้จริง โดยในปีแรกได้รับงบประมาณดำเนินการ 3 พันล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะครอบคลุมความต้องการได้อย่างเพียงพอ ส่วนงบประมาณสำหรับดำเนินการในระยะถัดไปนั้น ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง หารือร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ในการหาแหล่งงบประมาณเพื่อดำเนินการในระยะถัดไป”

นายลวรณ กล่าวอีกว่า สำหรับค่ายรถที่เข้าร่วมมาตรการจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของโครงการ คือ ในปีที่ 3 ค่ายรถจะต้องผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อทดแทนรถที่นำเข้ามาจำหน่าย ในสัดส่วน 1 ต่อ 1 ซึ่งตามเป้าหมายภายในปี 2030 จะต้องมีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศอยู่ที่ 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด เพื่อทำให้ไทยสามารถรักษาฐานการผลิตรถยนต์ไว้ได้

นายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต ในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า จากการลงนามร่วมกับ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด คาดว่าจะมีรถยนต์ไฟฟ้า นำมาขายในงานมอเตอร์โชว์ ได้ประมาณ 500 คัน ส่วน บริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด คาดว่าจะนำมาขายประมาณ 1,500 คัน โดยประชาชนที่สนใจ จะได้รับส่วนลดตามมาตรการรัฐทันที 150,000-200,000 บาทต่อคัน

ทั้งนี้ มีค่ายรถยนต์ที่สนใจลงนามร่วมกับกรมอีกหลายค่าย โดยรายที่ 3 เป็นค่ายเนต้า จากประเทศจีนที่ร่วมลงทุนกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ขณะที่ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น เช่น โตโยต้า ฮอนด้า มิตซูบิชิ อยู่ระหว่างการหารือกับกรมสรรพสามิต เบื้องต้นขอเวลาประมาณ 6 เดือน ยังไม่พร้อมจะร่วมในงานมอเตอร์โชว์ครั้งนี้ ส่วนค่ายยุโรป เช่น บีเอ็มดับเบิลยู เมอร์เซเดส เบนซ์ หากทำราคาได้ต่ำกว่า 2 ล้านบาท ก็จะมีส่วนลดต่อคันสูงถึง 6-7 แสนบาท ซึ่งเชื่อว่าค่ายรถทั้งหมดกว่า 80% จะลงนามกับกรมได้หมดภายในปีนี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน