นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในโอกาสประชุมร่วมกับพลอ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เรื่องการขับเคลื่อนกาฬสินธุ์โมเดล ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ ศาลากลาง จ.กาฬสินธุ์ ว่า ได้สั่งการทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ใน จ.กาฬสินธุ์ร่วมกันขับเคลื่อนกาฬสินธุ์โมเดล ซึ่งเป็นจังหวัดแรกที่รัฐบาลได้กำหนดให้เป็นจังหวัดนำร่องที่จะนำมาใช้เป็นโมเดลแก้ปัญหาความยากจนของประชาชน เพื่อยกระดับได้รายประชาชนซึ่งมีรายได้เฉลี่ยในปี 2560 เพียง 50,400 บาท/คน/ปี เพิ่มขึ้นอีก 7% ในปี 2561 หรือ 54,400 บาท/คน/ปี และปี 2561 เพิ่มอีก 10% เพื่อให้ประชาชนมีรายได้ต่อหัวอยู่ที่ 56,000 บาท/ปี ตามเป้าหมายรัฐบาล ทั้งการสนับสนุนจากส่วนกลาง และการวิเคราะห์ปัจจัยจากในระดับพื้นที่

โดย 1.มอบหมายรองปลัดกระทรวงเกษตรฯ นายธนิตย์ เอนกวิทย์ ตรวจสอบอัตรากำลังข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ ทุกหน่วยงานใน จ.กาฬสินธุ์ ว่ามีครบถ้วนตามกรอบอัตรากำลังหรือไม่ โดยห้ามข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ ประจำ จ.กาฬสินธุ์ไปช่วยราชการที่อื่น โดยเฉพาะเกษตรอำเภอและเกษตรตำบล เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจน

2. มอบหมายผู้ตรวจราชการกระทรวงฯ และผู้ตรวจราชการกรมในหน่วยงานกระทรวงเกษตรฯ ลงพื้นที่ตรวจราชการที่ จ.กาฬสินธุ์ อย่างน้อยเดือนละครั้ง และรายงานผลการติดตามมายังกระทรวงเกษตรฯ ประจำทุกเดือน พร้อมทั้งติดตามผลงานในปี 2560 และแผนงานปี 2561 ว่ามีการดำเนินการตามแผนหรือไม่ อย่างไร เช่น โครงการสนับสนุนแหล่งน้ำของกรมชลประทาน

ส่วนที่สอง คือ การวิเคราะห์ปัจจัยเกี่ยวข้องที่ส่งผลต่อความยากจนของเกษตรกร แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1. กลุ่มเกษตรกรที่ถูกเอาเปรียบจากกลุ่มนายทุน เช่น การทำสัญญากับนายทุน หรือการกู้หนี้นอกระบบ 2. ปัจจัยการดำเรงชีวิตของเกษตรกรเองไม่เหมาะสม เช่น ขาดอุปกรณ์เครื่องมือ เครื่องจักรกลการเกษตร พื้นที่การเกษตรไม่เหมาะสม ความแห้งแล้ง น้ำ องค์ความรู้ในการต่อยอดอาชีพทางการเกษตร และ กลุ่มที่ 3. ด้านชีวิตความเป็นอยู่รายบุคคล และครัวเรือน เช่น สภาพแวดล้อมทางสังคม หรือ ปัญหายาเสพติด ซึ่งเมื่อแยกเป็นสามกลุ่มหลักแล้ว จะสามารถกำหนดแผนงานและการให้การสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้

ขณะเดียวกัน การดำเนินการไม่เพียงมุ่งเน้นเฉพาะแสวงหารายได้เท่านั้น แต่ให้มีการพิจารณาเรื่องการลดรายจ่ายในครัวเรือน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของรัชกาลที่ 9 มาขับเคลื่อนควบคู่กันด้วย รวมทั้งการขยายผลจิตอาสาโครงการพระราชทานในรัชกาลที่ 10 ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเกษตรกรที่ยังทำการเกษตรแบบดั้งเดิม กับเกษตรกรรุ่นใหม่ สมาร์ตฟาร์มเมอร์ หรือเกษตรกรต้นแบบ เข้ามาเป็นผู้ช่วยให้การสนับสนุนการทำงานของเกษตรจังหวัดเกษตรกรตำบล เพื่อร่วมสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ และการพัฒนาการเกษตรต่อสู้ความยากจนอีกด้วย

สำหรับในช่วงบ่ายรมว.เกษตรฯ พร้อมคณะได้เดินทางต่อไปยังฝายลำห้วยค้อ บ้านนาโก ต.นาโก อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ เพื่อเยี่ยมแปลงเกษตรทฤษฏีใหม่ด้วยระบบน้ำหยดโดยใช้พลังงานแสง อาหิตย์พื้นที่ได้รับประโยชน์ 40 ไร่ เกษตรกรจำนวน 13 ครัวเรือน ซึ่งกรมชลประทานได้ดำเนินการร่วมกับมูลนิธิปิดทองในการให้การสนับสนุนงบประมาณ และตรวจเยี่ยมแปลงเกษตรทฤษฏีใหม่ในรูปแบบหลุมพอเพียงบ้านหนองแมวโพง ต.หนองใหญ่ อ.โพนทอง จ.ร้อยเอ็ด ซี่งได้มอบหมายให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรฯ กรมชลประทาน และกรมพัฒนาที่ดิน พิจารณาขยายผลระบบการบริหารจัดการน้ำและการส่งเสริมการเกษตรทฤษฏีใหม่ที่ภาคเอกชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมโดยเฉพาะระบบตลาดไปยังพื้นที่ที่มีความเหมาะสมให้แก่เกษตรกรให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน