นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wholesale และรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลุ่มงาน Economic Intelligence Center หรือ EIC (อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ปรับลดประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยในปี 2565 เป็น 2.7% จากเดิมคาดไว้ที่ 3.2% เนื่องจากผลกระทบของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ส่งผลให้ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้จีดีพีไทยที่จะกลับไประดับเดียวกับปี 2562 จะใช้เวลานานขึ้นเป็นครึ่งปีหลังของปี 2566

“เศรษฐกิจไทยก็ยังฟื้นตัวไม่ดีนัก ขณะเดียวกันไทยพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศเยอะ การเกิดสงครามรัสเซียและยูเครน กระทบราคาพลังงานให้ปรับตัวสูงขึ้นเป็นไปตามทิศทางราคาพลังงานโลก ซึ่งอีไอซี ประเมิน 3 กรณี 1. หากสงครามยืดเยื้อ 3-6 เดือน ราคาน้ำมันจะอยู่ที่ 110 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล 2. สงครามยืดเยื้อและขยายวงกว้าง ราคาน้ำมันจะแตะ 133 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล และ 3. จบเร็ว ราคาน้ำมันจะอยู่ที่ 90 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่สงครามยังไม่มีความแน่นอน การสู้รบและการคว่ำบาตร กระทบเศรษฐกิจโลก หากยืดเยื้อนาน และขยายวงกว้างเศรษฐกิจโลกอาจจะเติบโตเพียง 2% ส่วนเศรษฐกิจไทยน่าจะเติบโตเพียง 1-2%”

อย่างไรก็ตาม อีไอซีได้คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเฉลี่ยทั้งปีนี้จะเร่งตัวขึ้นสูงสุดในรอบ 14 ปีที่ระดับ 4.9% จากราคาพลังงาน และอาหารที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลการใช้จ่ายในประเทศจะฟื้นตัวในอัตราที่ชะลอลงกว่าที่ประมาณการไว้เดิม โดยเฉพาะการบริโภคที่มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบทั้งจากกำลังซื้อของครัวเรือนที่ปีนี้อาจจะติดลบ จากการฟื้นตัวของค่าจ้างแรงงานที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ไม่ทันค่าครองชีพ และหนี้ครัวเรือนยังเร่งตัวต่อเนื่อง ดังนั้นภาครัฐจึงยังควรมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และบรรเทาผลกระทบของครัวเรือนโดยเฉพาะในกลุ่มรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด

อีไอซีมองว่าพ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ขณะนี้เหลือแค่ 0.75 แสนล้านบาท ซึ่งยังสามารถกู้เพิ่มได้อีก 3-5 แสนล้านบาท จากที่ขยายเพดานหนี้สาธารณะเป็น 70% ของจีดีพี และอัตราดอกเบี้ยที่ยังต่ำ เพื่อปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และดูแลเรื่องผลกระทบราคาพลังงาน โดยอีไอซีมองว่า นโยบายการตรึงราคาน้ำมันดีเซลแบบหน้ากระดานเช่นในช่วงที่ผ่านมา มีผลเสียที่ไม่ตั้งใจอย่างน้อย 3 มิติ คือ 1. เงินอุดหนุนส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกใช้เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบของผู้มีรายได้น้อย เพราะผู้ได้รับประโยชน์หลักคือครัวเรือนที่มีรายได้สูง เนื่องจากเป็นผู้ใช้พลังงานในปริมาณมากกว่า โดยกลุ่มครัวเรือนรายได้สูง 20% แรกได้รับประโยชน์ในเชิงเม็ดเงินจากมาตรการนี้มากถึง 9.6 เท่าเทียบกับกลุ่มรายได้น้อย 20%

2. การตรึงราคาพลังงานที่ระดับใดระดับหนึ่งนานเกินไป ทำให้บัญชีเดินสะพัดขาดดุลมาก เป็นภาระด้านงบประมาณที่สูง ไม่ยั่งยืน และสร้างความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจหากภาครัฐจำเป็นต้องยกเลิกอุดหนุนโดยฉับพลัน ส่งผลให้ราคาพลังงานต้องปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนทำให้เศรษฐกิจชะงักงันได้

และ 3.ในระยะยาว การอุดหนุนราคาพลังงานฟอสซิลที่ไม่สะท้อนต้นทุนต่อเนื่องเป็นเวลานานส่งผลให้เกิดปัญหาเชิงโครงสร้างด้านประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่ต่ำและการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลมากเกินไป

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ภาครัฐจึงควรปรับเปลี่ยนมาตรการโดยเน้น การบริหารราคาพลังงานในลักษณะ Managed Float คือ การทยอยปรับขึ้นราคาอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ฝืนทิศทางของราคาในตลาด เพื่อให้เวลาผู้บริโภคในการปรับตัว และเสริมด้วยมาตรการการอุดหนุนเฉพาะจุดแก่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยหรือกลุ่มธุรกิจขนส่งสาธารณะ เพื่อลดผลกระทบความเดือดร้อนอย่างตรงจุด ควบคู่กับการสร้างแรงจูงใจแก่ภาคเอกชนในการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน และการเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้พลังงาน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นและยกระดับเสถียรภาพของระบบพลังงานในระยะยาว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน