ภาคอุตสาหกรรม เบรกรัฐขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร ลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบ ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ช่วยผู้ประกอบการ รับวิกฤตเศรษฐกิจ

เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2565 นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจส.อ.ท.เดือนมี.ค. 2565 หัวข้อ “โพล ส.อ.ท. หนุนทบทวนปรับขึ้นค่า Ft” จากสมาชิก ส.อ.ท. จำนวน 460 บริษัท พบว่าผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการดำเนินธุรกิจตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ตลอดจนวิกฤตความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่สงครามยังคงยืดเยื้อ ทำให้ราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้นและส่งผลทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ยังคงกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง

“ภาครัฐจึงจำเป็นต้องเร่งดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตในช่วงนี้ เช่น การทบทวนการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) ลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบที่จำเป็นต่อภาคการผลิต ส่งเสริมการพัฒนาการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport) ผลักดันระบบการจ่ายค่าแรงตามทักษะ (Pay by Skill) สนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีนัยสำคัญต่อการดึงดูดนักท่องเที่ยว เป็นต้น”

โดยผลสำรวจครั้งนี้ สมาชิกส.อ.ท. มีความเห็นว่าภาครัฐควรดำเนินมาตรการเพื่อรองรับผลกระทบจากราคาพลังงานแพง อันดับแรก 68.30% ต้องการให้ทบทวนการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร รอลงมา 57.60% เห็นควรให้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เช่น ส่วนลดค่าไฟฟ้า ส่วน 55% ขอให้ภาครัฐสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร/อุปกรณ์ เพื่อการประหยัดพลังงาน

เมื่อถามว่าภาครัฐควรดำเนินการแก้ไขปัญหาวัตถุดิบขาดแคลน และวัตถุดิบแพงอย่างไร สมาชิกส.อ.ท. 63.90% เห็นว่าภาครัฐควรลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบที่จำเป็นต่อภาคการผลิต รองลงมา 63% ขอให้ปลดล๊อกเงื่อนไขและโควต้าการนำเข้าวัตถุดิบโดยเฉพาะในวัตถุดิบที่ขาดแคลน ส่วน 53.50% ขอให้ภาครัฐควบคุมและดูแลราคาสินค้าไม่ให้มีการฉวยโอกาสปรับราคาเกินจริง

นอกจากนี้ สมาขิกส.อ.ท. 71.10% เห็นว่าภาครัฐควรส่งเสริมการพัฒนาการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบในภูมิภาค เช่น ทางราง, ทางเรือ เป็นต้น เพื่ออำนวยความสะดวกและลดอุปสรรคด้านการส่งออกที่เป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รองลงมา 57.60% ให้เร่งการเชื่อมโยงใบอนุญาต/ใบรับรองต่างๆ ของกลุ่มสินค้าหลักในระบบ National Single Window (NSW) ส่วน 57.20% ขอให้ส่งเสริมและพาผู้ประกอบการออกไปเปิดตลาดที่ไทยมีศักยภาพ

โดยสมาชิก 71.10% เสนอให้ภาครัฐควร ผลักดันระบบการจ่ายค่าแรงตามทักษะ แทนค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อปรับปรุงการบริหารจัดการแรงงาน และแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน รองลงมา 60% ขอให้เร่งพิจารณาเปิดการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายให้ถูกต้องตามกฎหมายอีกครั้ง ส่วน 54.60% ขอให้ภาครัฐหารือกับรัฐบาลประเทศต้นทางในระดับรัฐมนตรีเพื่อเร่งรัดการนำเข้าแรงงานต่างด้าวภายใต้ข้อตกลงโดยเร็ว

อย่างไรก็ตาม สมาชิก 64.10% เห็นว่าภาครัฐควรสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีนัยสำคัญต่อการดึงดูดนักท่องเที่ยว เพื่อส่งเสริมการเปิดประเทศและกระตุ้นเศรษฐกิจไทย รองลงมา 60.40% เห็นควรให้ปรับกระบวนการออกใบอนุญาต Work permit และดึงแรงงานทักษะสูงเข้ามาทำงานในประเทศ
ส่วน 60.20% ให้ผ่อนปรนเงื่อนไขและเพิ่มมาตรการจูงใจนักลงทุนศักยภาพให้เข้ามาลงทุน และอาศัยในประเทศ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน