นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อสัปดาห์ก่อนได้เชิญการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) มาหารือถึงแผนฟื้นฟูองค์กร โดยขอให้ทั้ง 3 หน่วย กลับไปทบทวนแผนฟื้นฟูใหม่ โดยให้กลับไปศึกษาความเป็นไปได้ในอนาคตของแต่ละองค์กร ซึ่งจะต้องมีการกำหนดบทบาท และเป้าหมายองค์กรให้ชัดเจน ต้องมีแผนธุรกิจ ไม่ใช้มีแค่แผนการลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มรายได้เท่านั้น โดยทั้ง 3 หน่วยงานจะต้องนำแผนฟื้นฟูกลับมาเสนอให้ตนพิจารณาอีกครั้งก่อนวันที่ 19 ม.ค. ซึ่งจะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.)

สำหรับ รฟท. นั้นจากการหารือเบื้องต้นได้ร่วมกันกำหนดเป้าหมายแล้วว่าภายในอีก 5 ปีข้างหน้า รฟท. จะต้องเป็นรัฐวิสาหกิจที่ให้บริการระบบรางที่ดีที่สุดในอาเซียนแซงหน้ามาเลเซียให้ได้ ทั้งนี้ มั่นใจว่ารฟท. ทำได้

นายไพรินทร์ กล่าวต่อว่า การแก้ไขปัญหาขาดทุนของ รฟท. และขสมก. เรื่องของรายรับหรืออัตราค่าโดยสารที่เรียกเก็บนั้นเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก โดยมอบหมายให้ทั้ง 2 หน่วยงานไปคำนวณหาอัตราค่าโดยสารยุติธรรมด้วยว่าค่าโดยสารที่เหมาะสมควรต้องปรับราคาขึ้นมอยู่ที่เท่าไหร่จึงจะทำให้องค์กรมีรายได้สอดคล้องกับต้นทุน โดยให้นำแผนการเพิ่มรายได้จากการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารเสนอมาและนำไปประกอบเป็นส่วนหนึ่งของแผนฟื้นฟูที่จะเสนอให้คนร.และรัฐบาลพิจารณาด้วย หากรัฐบาลไม่เห็นด้วยให้ปรับขึ้นค่าโดยสาร รัฐบาลก็จะต้องหามาตรการชดเชยรายได้ให้ทั้ง 2 หน่วยงานต่อไป

“ปัจจุบันเราใช้บริการรถมอเตอร์ไซค์ และรถไฟฟ้า ค่าโดยสารขั้นต่ำ 15 บาท/ครั้ง ขณะที่นั่งมอเตอร์ไซค์ก็อันตราย ส่วนค่าโดยสารรถไฟฟ้าก็มีการปรับขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ ขณะที่ค่าโดยสารรถไฟของ รฟท. เก็บเพียงสถานีละ 2 บาท ส่วนรถเมล์ขสมก. อยู่ที่ 6.50 บาท ผมมองว่ามันไม่ยุติธรรม สำหรับ รฟท.และขสมก. เพราะไม่ได้ปรับขึ้นราคามา 20-30 ปีแล้ว รวมทั้งปัจจุบันรัฐบาลยังมีบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย หรือบัตรคนจน ช่วยเหลือแก่ผู้มีรายได้น้อยอยู่แล้ว แต่หากรัฐบาลเห็นด้วยให้ปรับขึ้นค่าโดยสารกระทรวงก็จะต้องทำความเข้าใจกับสังคมให้เห็นถึงความจำเป็น”

นายไพรินทร์ กล่าวถึงการบินไทยว่า ขณะนี้ได้รับผลกระทบรุนแรงจากสายการบินต้นทุนต่ำ เบื้องต้นแนะนำให้ทำการปรับโมเดลการทำธุรกจให้ใกล้เคียงกับโลว์คอสต์มากขึ้น เช่น การปรับลดชนิดของเครื่องบินให้มีความหลากหลายน้อยลง เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการ โดยเฉพาะการจัดซื้อเครื่องบินใหม่ อาจจะมีแค่ 2-3 แบบเท่านั้น และปรับลดต้นทุนการขาย

นอกจากนี้ ยังได้ให้คำแนะนำการบินไทยไปว่าการเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์จะต้องพยายามีสินทรัพย์ให้น้อยที่สุดโดยเฉพาะสินทรัพย์ที่มีภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายเรื่องของดอกเบี้ยจ่าย และไม่ทำให้เกิดรายได้ ทั้งนี้เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย โดยที่ผ่านมาการบินไทยก็เร่งขายสินทรัพย์ที่ไม่จำเป็นอยู่แล้ว รวมทั้งต้องนำระบบจัดซื้อแบบเช่ามาใช้แทนการซื้อขาดให้มากขึ้น โดยเฉพาะการซื้อทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี เช่น การซื้อเครื่องบินในอนาคตควรใช้ระบบเช่า รวมไปถึงระบบ ฮาร์ดแวร์ และซอฟแวร์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เพราะการซื้อขาดจะทำให้ทรัพย์สินล้าสมัย และยังมีภาระต้นทุนสินทรัพย์ด้อยค่าอีกด้วย

“เรื่องการจัดหาเครื่องบินของการบินไทยในอนาคต จะเป็นระบบซื้อ หรือเช่า นั้น ผมไม่สามารถเข้าไปก้าวล่วง เพราะเป็นนโยบายของบอร์ดการบินไทย แต่ที่เสนอเป็นแค่คำแนะนำเท่านั้น”

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าขณะนี้การบินไทยยังมีปัญหาหนักการขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เนื่องจากมีเส้นทางการบินหลายประเทศ ทำให้มีการใช้สกุลเงินหลากหลาย รวมทั้งเงินดอลลลาร์ยังมีแนวโน้มจะอ่อนตัวไปอีกพักใหญ่ ซึ่งจะทำให้เงินบาทแข็งค่าไปอีกระยะ จึงแนะนำให้มีการทำการประกันอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มมากขึ้น

นางอุษณีย์ แสงสิงแก้ว รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ได้มารายงานแผนฟื้นฟูการบินไทยให้ รมช.ไพรินทร์ รับทราบว่ามีการดำเนินการอย่างไรไปบ้าง อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาการบินไทยได้มีการดำเนินการตามแผนฟื้นฟู และในปี 2561 นี้อยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาอย่างยั่งยืน มีกำไร

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม ในฐานะรักษาการผู้ว่ารฟท. กล่าวว่า สัปดาห์นี้ รฟท. จะรายงานแผนฟื้นฟู รถไฟ ที่ได้มีการปรับแก้ไขเพื่อเสนอไปยังกระทรวงคมนาคมพิจารณารายละเอียด ก่อนที่จะมีการประชุมคนร. ในวันที่ 19 ม.ค. โดยแผนฟื้นฟูที่มีการปรับแก้ไขฉบับใหม่ จะทำให้เห็นภาพรวมของการปรับโครงสร้างองค์กรว่าจะมีการสร้างสร้างรายได้ที่แท้จริงอย่างไร ส่วนเรื่องลงทุนนอกจากการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานทางคู่ แล้ว ในแผนฟื้นฟูที่แก้ไขจะมีในส่วนของการจัดซื้อจัดหา เพิ่มหัวรถจักร ขบวนรถ เพื่อรองรับรถไฟทางคู่ที่จะมีขึ้นด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน