กบน. เคาะ ตรึงดีเซล 32 บาท อีกสัปดาห์ ช่วยบรรเทาผลกระทบ ค่าครองชีพประชาชน เผยออมสิน-กรุงไทย เสนอเงื่อนไขปล่อยกู้ คาดมีเงินกู้เข้ามาเดือนมิ.ย.

วันที่ 9 พ.ค.65 นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(กบน.)กบน มีมติให้คงราคาดีเซลในสัปดาห์นี้ไว้ที่ 32 บาท/ลิตร โดยกองทุนอุดหนุนอยู่ที่ 11.35 บาท/ลิตร เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบด้านค่าครองชีพให้ประชาชน จากราคาจริงอยู่ที่ 38 บาท/ลิตร ภายใต้สถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกยังคงอยู่ในระดับสูง เห็นได้จากราคาดีเซล ณ วันที่ 6 พ.ค.2565 อยู่ที่ 160.65 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

“มั่นใจว่าจากสภาพคล่องที่กองทุนมีประมาณ 12,932 ล้านบาท ยังเพียงพอในการดูแลราคาน้ำมันในประเทศ หลังรัฐบาลมีนโยบายให้ปรับราคาน้ำมันดีเซลขึ้นแบบมีการอุดหนุนครึ่งหนึ่งของราคาที่ปรับขึ้น ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 พ.ค.2565 ที่ผ่านมา

อีกทั้งประเมินทิศทางราคาน้ำมันตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง หลังยุโรปผ่านพ้นฤดูหนาวเป็นปัจจัยหลัก กบน.จึงมีมติให้คงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลประจำสัปดาห์ไว้ที่ 32 บาท/ลิตร

โดย ณ วันที่ 8 พ.ค.2565 ประมาณการฐานะกองทุนติดลบ 66,681 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 33,258 ล้านบาท และบัญชีก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี) ติดลบ 33,423 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ยังมีการติดตามสถานการณ์การสู้รบระหว่างยูเครน-รัสเซีย ที่จะมีผลต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกอย่างใกล้ชิด เพื่อประกอบการพิจารณาปรับราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศขึ้น/ลงเป็นรายสัปดาห์อีกครั้งในวันที่ 16 พ.ค.2565 หากในแต่ละรอบสัปดาห์ราคาน้ำมันตลาดโลกปรับลดลง ก็จะมีการปรับเงินอุดหนุนและปรับเพดานราคาลดลงตามการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันต่อไป

สำหรับความคืบหน้าการกู้เงินจากสถาบันการเงิน 20,000 ล้านบาท เพื่อใช้อุดหนุนราคาน้ำมันในประเทศนั้น ขณะนี้มีธนาคารออมสินและธนาคารกรุงไทย มีความสนใจและยื่นข้อเสนอการปล่อยกู้มายังกองทุนแล้ว จากที่แจ้งไป 10 แห่ง

โดยธนาคารทั้งสองแห่งมีการขอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานะทางการเงิน สภาพคล่องของเงินเข้า/ออก​ และราคาน้ำมันตลาดโลกเป็นอย่างไร รวมทั้งเงื่อนไขการปล่อยกู้ปัจจุบันมีการพิจารณาเข้มข้นขึ้นมาก เชื่อว่าจะมีความชัดเจนภายในเดือนพ.ค.นี้ และมีเงินเข้ามายังกองทุนเดือนมิ.ย.ได้ตามที่กำหนดไว้

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) กล่าวว่าขณะนี้กรมธุรกิจพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางปรับลดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซล(B100) ในน้ำมันดีเซลลงอยู่ที่ B3 จากปัจจุบันอยู่ที่ B5 มั่นใจจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้ เพื่อเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) พิจารณาก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาเห็นชอบ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน