นายไพรินทร์ ชูชาติถาวร รมช.คมนาคม เปิดเผยหลังตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ว่า รฟม. เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจซึ่งดำเนินการได้ดีและมีภารกิจที่ชัดเจน โดยการลงทุนรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑลส่วนใหญ่ผ่านความเห็นชอบหมดแล้ว รฟม. จึงมีภารกิจในการผลักดันรถไฟฟ้าในต่างจังหวัดต่อไป เช่น จ.เชียงใหม่, ภูเก็ต, นครราชสีมา, ขอนแก่น

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ปีนี้ จะมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี และสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง เพิ่มเติม จึงขอให้ประชาชนอดทนต่อปัญหาจราจร แต่ รฟม. ก็ต้องคืนพื้นที่จราจรในส่วนที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว

นอกจากนี้ ขอยืนยันว่า รฟม. จะคืนพื้นที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต บริเวณแยกรัชโยธินตามแผนในต้นปี 2562 อย่างแน่นอน สำหรับแผนคือจะก่อสร้างสะพานข้ามแยกรัชโยธินแล้วเสร็จในปี 2561 และก่อสร้างอุโมงค์ลอดแยกรัชโยธินในปี 2562 ซึ่งจะลดปัญหาจราจรบริเวณดังกล่าวลงไปได้

นายฤทธิกา สุภารัตน์ รักษาการผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ภายในปีนี้ รฟม.จะดำเนินการเปิดประมูลก่อสร้างรถไฟฟ้า 2 เส้นทาง คือ รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) หรือรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ระยะทาง 23.6 กิโลเมตร วงเงิน 101,112 ล้านบาท และรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร มูลค่า 1.2 แสนล้านบาท

โดยสายสีม่วงใต้ จะเปิดประมูลในเดือนก.พ. และลงนามในสัญญาผู้รับจ้างเดือนธ.ค. ปีนี้ เบื้องต้นจะแบ่งเป็น 6 สัญญาคือ ใต้ดิน 4 สัญญา ยกระดับ 1 สัญญา และราง 1 สัญญา สำหรับวงเงินก่อสร้างกู้โยธาอยู่ที่ 8 หมื่นล้านบาท โดยจากกู้จากธนาคารพัฒนาเอเชีย 10% และ 90% จะกู้จากในประเทศ ซึ่งเป็นไปตามคำแนะนำของกระทรวงการคลัง ส่วนสายสีส้ม อยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบการให้เอกชนเข้าร่วมทุน คาดว่าจะสรุปผลการศึกษาเสนอให้บอร์ดรฟม.พิจารณาได้ในเดือนก.พ. นี้ คาดว่าจะเปิดประมูลได้ปลายปีนี้

นายฤทธิกากล่าวว่า สำหรับโครงรถไฟฟ้าสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงบางแค-พุทธมณฑล สาย 4 และสายสีเขียว ช่วงสมุทรปราการ-บางปูและช่วงคูคต-ลำลูกกา นั้น อาจจะต้องมีการชะลอการดำเนินการออกไปก่อน เนื่องจากรฟม. ยังตกลงเรื่องการโอนหนี้สินและทรัพย์สินในส่วนของสายสีเขียวต่อขยายเดิมไม่ได้ข้อยุติ ส่วนสายสีน้ำเงิน จะต้องมีการรับฟังความเห็นจากนักลงทุนก่อน เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายที่จะลดภาระการลงทุนของภาครัฐโดยต้องการให้เอกชนเข้ามาลงทุนในที่เอกชนมีความสนใจและมีพร้อม

ส่วนความคืบหน้าในการศึกษาระบบตั๋วร่วมนั้น รฟม. มีหนังสือไปถึงบีเอ็มให้ยื่นข้อเสนอเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการการพัฒนาระบบกลับมา และอยู่ระหว่างคุยกับบีทีเอสและบีอีเอ็ม เรื่องการจัดตั้งบริษัทลูกในการบริหารตั๋วร่วม นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการศึกษาระบบใหม่ที่อาจจะนำมาใช้แทนระบบตั๋วร่วม คือการใช้ระบบบัตรเครดิตแทนซึ่งเป็นระบบที่ต่างประเทศใช้กันในขณะนี้

ส่วนการเตรียมปรับขึ้นค่าโดยสาร รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเฉลิมรัชมงคล ซึ่งเป็นไปตามสัญญาสัมปทานที่ต้องปรับทุกๆ 2 ปี นั้นคาดว่ารฟม. จะเสนอเรื่องให้บอร์ด พิจารณาได้ภายในปลายเดือนม.ค. นี้ จากนั้นจะต้องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบก่อนปรับราคา เบื้องต้นจะมีการปรับเพียง 3 สถานี จากทั้งหมด 18 สถานี โดยตามสัญญาการปรับราคาจะมีผลในเดือนก.ค. 2561

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน