หอการค้าชี้เศรษฐกิจไทยเสี่ยงโตแค่ 2.3% หากน้ำมันขึ้นอีก 10% ดันเงินเฟ้อทั้งปีพุ่ง 7% ขณะที่หนี้ครัวเรือนทะลุ 92% ของจีดีพี

เศรษฐกิจไทยเสี่ยงโตแค่ 2.3% – นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจเผยถึงประมาณการเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยปี 2565 ว่า ขณะนี้การค้าโลกอยู่ในช่วงขาลงคาดว่าทั้งปีจะโตลดจาก 6.7% เหลือ 4% ฉุดจีดีพีโลกโตลดลง จาก 4.9% เหลือ 2.9% เป็นจุดเสี่ยงของเศรษฐกิจไทย ขณะที่ราคาน้ำมันยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นถึง 120-130 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล หากจีนยกเลิกนโยบายซีโร่โควิด

ทำให้ราคาน้ำมันในไทยอาจปรับเพิ่มขึ้นอีก โดย เบนซินปรับเพิ่มขึ้น 1 บาท/ลิตร จะฉุดเศรษฐกิจหดตัว 0.1% ขณะที่ดีเซลปรับขึ้น 1 บาท/ลิตร จะฉุดจีดีพีหดตัว 0.2% โดยตั้งแต่ต้นปี เบนซินแพงขึ้น 10 บาท/ลิตรแล้ว รวมทั้ง ขณะที่รัสเซียยังเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน ทำให้การค้าโลกซึมและกระทบกับการส่งออกของไทย

ดังนั้นจึงปรับลดเป้าจีดีพีปีนี้ลงเหลือ 3.1% จากเป้าเดิม 4.2% โดยการอุปโภคภาครัฐ จะโตติดลบ 1.2% จากเดิมโต 1.6% ขณะที่ การลงทุนภาครัฐ โตลดลง จาก 7.1% เหลือ 2.9% เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องเพดานหนี้สาธารณะ การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ลดลงจาก 4.5% เหลือ 3.7%

ขณะที่การส่งออกจะขยายตัวเพิ่มขึ้น จาก 5.4% เป็น 6.3% รายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มจาก 3 แสนล้านบาท เป็น 3.65 แสนล้านบาท การลงทุนภาคเอกชน โตเพิ่มขึ้น จาก 4.1% เป็น 4.9% ขณะที่สัดส่วนหนี้สินภาครัวเรือนต่อจีดีพี โตเพิ่มขึ้นจาก 91.2% เป็น 91.6%

นายธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า เนื่องจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด และคณะกรรมการนโยบายการเงิน รวมทั้งแนวโน้มราคาน้ำมันยังคงผันผวน มหาวิทยาลัย จึงทำการประมาณการเศรษฐกิจไทย เพิ่มเติมอีก 3 กรณี นอกเหนือไปจากกรณีฐาน หรือกรณีเศรษฐกิจโตได้ 3.1% ข้างต้น ซึ่งมีความเป็นไปได้มากที่สุด

สำหรับ 3 กรณี ประกอบด้วย 1. กรณีแย่ที่สุด คือ ราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นอีก 10% จีดีพีไทยจะลดลงเหลือ 2.3% การส่งออกจะโต 5.9% สัดส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดต่อจีดีพี โตติดลบ 4.3% อัตราเงินเฟ้อพุ่ง 7% อัตราการว่างงาน 1.58% สัดส่วนหนี้สินภาคครัวเรือนต่อจีดีพี 92.1%

2. กรณีที่แย่กว่ากรณีฐาน คือคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ทยอยปรับราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นแต่ไม่เกิน 40 บาท/ลิตร และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 2565 เป็นจำนวน 3 ครั้งๆ ละ 0.25% ต่อปี จีดีพีจะลดลงเหลือ 2.9% เพราะการขึ้นดอกเบี้ยทุกๆ 0.25% จะทำให้เศรษฐกิจย่อยลง 0.1% การส่งออกจะโต 6.2% สัดส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดต่อจีดีพี โตติดลบ 3.8% อัตราเงินเฟ้อพุ่ง 6.4% อัตราการว่างงาน 1.47% สัดส่วนหนี้สินภาคครัวเรือนต่อจีดีพี 91.18%

และ 3. กรณีที่ดีกว่ากรณีฐาน คือราคาน้ำมันดิบโลกลดลง 10% การส่งออก และท่องเที่ยวฟื้นตัวจีดีพีจะลดลงเหลือ 3.5% การส่งออกจะโต 6.8% สัดส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดต่อจีดีพี โตติดลบ 3.4% อัตราเงินเฟ้อพุ่ง 5.4% อัตราการว่างงาน 1.32% สัดส่วนหนี้สินภาคครัวเรือนต่อจีดีพี 91.3%

อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจไทยเสี่ยงและซึมตัวไปมากกว่านี้ รัฐบาลจะต้องเร่งเข้ามาแทรกแซงราคาพลังงาน และหากจะปรับขึ้นควรทยอยปรับ เพื่อดูแลไม่ให้ราคาสินค้าขึ้นมาก เร่งปล่อยสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอี เพื่อให้มีสภาพคล่องในการยื้อไม่ต้องปรับขึ้นราคาสินค้า รวมทั้งเร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจรักษาสภาพคล่องไว้โดยยังไม่ปรับขึ้นราคาสินค้าได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน