แบงก์ชาติห่วงเศรษฐกิจไทยโตร้อนแรงเกินไป ดันเงินเฟ้อซ้ำเติมประชาชน ยันไม่ขยับกรอบ พร้อมจับตาบาทอ่อน แต่ไม่ห่วงเพราะยังเกาะภูมิภาค

แบงก์ชาติห่วงเศรษฐกิจไทย – นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่มีเหตุผลหรือความจำเป็นอะไรที่จะต้องปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1-3% แม้ปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในช่วงสั้น จากปัจจัยภายนอกที่เกินการควบคุมอย่างราคาน้ำมัน ทำให้มีโอกาสที่เงินเฟ้อจะออกนอกกรอบเป้าหมายไปบ้าง แต่ยังยืนยันว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อระยะปานกลางที่ 1-3% เหมาะสมกับเศรษฐกิจไทย

ทั้งนี้ ความท้าทายของนโยบายการเงินของไทย คือ การถอนคันเร่งที่พอเหมาะ และถูกจังหวะ เพื่อให้เศรษฐกิจได้เคลื่อนไปได้เอง ไม่ร้อนแรงจนเกินไป เพราะไม่เช่นนั้นจะส่งผลซ้ำเติมเงินเฟ้อ โดยมองว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มจะฟื้นตัวได้ชัดเจน หากไม่มีการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน ก็จะเกิดความเสี่ยง ที่สร้างแรงกดดันด้านอุปสงค์รวมกับความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) พยายามจะไม่ให้เศรษฐกิจร้อนแรงเกินไป ไม่ให้แรงกดดันด้านอุปสงค์ของเงินเฟ้อเกิดขึ้น จึงเป็นเหตุผลจำเป็นในการถอนคันเร่งของนโยบายการเงิน

สำหรับปรับประมาณการเศรษฐกิจล่าสุด ที่ปี 2565 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 3.3% จากเดิมที่ 3.2% และปี 2566 ลดลงเหลือ 4.2% จากเดิมที่ 4.4% สะท้อนการปรับนโยบายการเงินในตัวอยู่แล้ว แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้สะท้อนการถอนคันเร่งอยู่แล้ว การถอนคันเร่งของนโยบายการเงินในช่วงต้นได้ประเมินแล้วว่าจะไม่ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสะดุด

“สิ่งสำคัญคือ ครัวเรือนมีหนี้ มีรายได้ต่ำ ต้นทุนที่มาจากเงินเฟ้อ สูงกว่าต้นทุนจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ที่ประมาณการ คือ หากมีดอกเบี้ยปรับขึ้น 1% จะเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปี พบว่าภาระค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อครัวเรือนจากเงินเฟ้อสูงขึ้น 7-8 เท่า ดังนั้นหากเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง จะทำให้ต้นทุนที่สูงอยู่นาน ยิ่งนานเท่าไหร่ การขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อในระยะปานกลางก็เป็นสิ่งที่จะต้องทำ หากมองภาพเศรษฐกิจไปข้างหน้า มีการฟื้นตัวอย่างชัดเจน แต่ยังมีความเสี่ยงหรือแรงกดดันด้านอุปสงค์มาเสริมแรงกดดันเงินเฟ้อให้สูงขึ้น ดังนั้นนโยบายการเงินจึงต้องปรับจุดยืนตามการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ สิ่งที่ กนง. ทำคือพยายามที่จะไม่ให้เศรษฐกิจร้อนแรงเกินไป ไม่ให้แรงกดดันด้านอุปสงค์ของของเฟ้อเกิดขึ้น”

นอกจากนี้ มองว่า การใช้นโยบายการเงินไม่ได้เป็นส่วนหลักที่ดึงให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมาย แค่ช่วยคลี่คลายเงินเฟ้อได้ในระดับหนึ่ง แต่การใช้นโยบายการเงิน ก็เพื่อช่วยเป็นกันชนให้แน่ใจว่าพัฒนาการของเศรษฐกิจ จะไม่ไปเสริมให้เงินเฟ้อระยะปานกลางสูงขึ้น ซึ่งไม่อยากให้มองว่านโยบายดอกเบี้ยจะมาเป็นพระเอกที่ทำให้เงินเฟ้อลดลง

นายปิติ กล่าวอีกว่า ที่จริงเรื่องการถอนคันเร่งของนโยบายการเงินมีการพูดคุยหารือกันภายในมาแล้วในช่วงก่อนหน้านี้ ไม่ได้เป็นเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นแต่อย่างใด โดย กนง. เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องสื่อสารออกไปให้มีความชัดเจนมากขึ้น ส่วนความถี่ในการประชุม กนง. ที่ปรับเหลือ 6 ครั้งนั้น มองว่าระยะเวลาที่วางไว้เหมาะสมกับภาวะปัจจุบัน โดยระยะ 6-7 สัปดาห์ที่เว้น เป็นช่วงที่ข้อมูลเศรษฐกิจเป็นเนื้อเป็นหนัก มีนัยยะต่อนโยบายได้

ขณะเดียวกัน กนง. ยังไม่มีแผนประชุมนัดพิเศษ ซึ่งตามหลักการแล้วการประชุมนัดพิเศษจะไม่มีการวางแผนล่วงหน้าอยู่แล้ว ยกเว้นมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นจนจำเป็นต้องเรียกประชุม ซึ่งหากมองจากข้อมูลเศรษฐกิจที่มองไปข้างหน้าที่มี ณ ตอนนี้ ยังอยู่ในวิสัยทัศน์ในการกำหนดการประชุมตามนโยบาย








Advertisement

สำหรับสถานการณ์เงินบาทอ่อนค่านั้น ย่อมส่งผลกระทบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบ หรือสินค้าต่างๆ ต้นทุนพลังงาน ซึ่งล้วนแต่เป็นภาระที่เพิ่มขึ้นของภาคธุรกิจ ดังนั้นเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน เป็นสิ่งที่กนง. ยังจับตาใกล้ชิด แต่จากที่ได้พิจารณาดูแล้ว ในปีนี้เงินบาทที่อ่อนค่ายังสอดคล้องกับทิศทางของสกุลเงินในภูมิภาค และการที่เงินบาทอ่อนค่ามีปัจจัยหลักมาจากการแข็งค่าขึ้นของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นสำคัญ และมีโอกาสที่บาทจะกลับมาแข็งค่าได้ในช่วงปลายปี

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้ จะฟื้นตัวจากภาคการท่องเที่ยว และอุปสงค์ในประเทศเป็นหลัก ซึ่งในส่วนของนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มเห็นทิศทางที่ฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สอดคล้องกับแนวโน้มการผ่อนคลายเพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างเต็มรูปแบบ โดยในไตรมาส 2/2565 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยราว 2 หมื่นคน/วัน และคาดว่าในช่วงไตรมาส 4 ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่น จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นไปที่ราว 3 หมื่นคน/วัน ซึ่งทำให้ ธปท. คาดการณ์ว่าทั้งปีจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยราว 6 ล้านคน ส่วนปี 2566 ที่ 19 ล้านคน ขณะที่ตลาดแรงงานเริ่มทยอยฟื้นตัวตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมา

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันจะเห็นดอกเบี้ยเริ่มมีการปรับตัวบ้างแล้วในส่วนของตลาดพันธบัตร แต่ในฝั่งของธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ยังไม่ได้ขยับมาก เพราะในภาพรวมเศรษฐกิจแม้จะเริ่มฟื้นตัวชัดขึ้น แต่ก็ยังเป็นการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป และบางภาคส่วนยังเปราะบาง ดังนั้นมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจในระยะถัดไปจะมีการปรับเปลี่ยนเป็นมาตรการช่วยเหลือเฉพาะจุดมากขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน