นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ หรือ ทอท. กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทอท. มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจสนามบิน 6 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย (ทชร.) ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานหาดใหญ่ เพื่อส่งมอบประสบการณ์การเดินทางที่ดีให้กับผู้ใช้บริการทุกคน ทั้งในสภาวะปกติและในช่วงที่เราทุกคนต้องร่วมฝ่าฟันวิกฤตโควิด-19

ซึ่งปีงบประมาณ 2565 ทอท. คาดว่าจะมีผู้โดยสารใช้บริการสนามบิน 6 แห่งรวม 45 ล้านคน ฟื้นตัว 33% และจะกลับมาฟื้นตัวเทียบเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ในปีงบประมาณ 2567 ที่จำนวน 142 ล้านคน ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาต้า) องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ) และ S&P Global ได้คาดการณ์ไว้

ขณะที่ ปีงบประมาณ 2566 ซึ่งเป็นปีที่ 43 ของ ทอท. คาดว่าจะมีผู้โดยสารรวมทั้ง 6 สนามบินของ ทอท. จำนวน 96 ล้านคน ฟื้นตัว 68% เมื่อเทียบกับระดับผู้โดยสารก่อนเกิดโควิด-19 และคาดว่าจำนวนผู้โดยสารจะกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ในปีงบประมาณ 2567 ดังนั้น จึงถือได้ว่าในปีที่กำลังจะมาถึงนี้เป็นปีที่อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ ทอท. ต้องเฝ้าระวังปัจจัยต่างๆ ที่อาจส่งผลต่อการเดินทางของผู้โดยสาร เช่น นโยบายการเปิดประเทศของจีน โอกาสการกลับมาระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ หรือโรคระบาดอื่นๆ เป็นต้น

“นโยบายการเปิดประเทศจีนถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด หากมีการเปิดประเทศในเดือนตุลาคม 2565 ทอท. จะได้ประโยชน์จากช่วงวันหยุดยาวประจำชาติจีน หรือหากเปิดประเทศในเดือนมกราคม 2566 ก็จะเป็นช่วงเทศกาลปีใหม่ แต่หากพ้นจากช่วงนี้ไปแล้ว ทอท. ก็จะเสียโอกาสช่วงดังกล่าวไป ดังนั้น จึงถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจกันของทุกฝ่าย เพื่อให้ธุรกิจดำเนินไปได้ด้วยกัน”

ทั้งนี้ ช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ทอท. สามารถรองรับผู้โดยสารได้กว่า 141.87 ล้านคน ดังนั้น ไม่ว่าปริมาณผู้โดยสารจะฟื้นตัวกลับมาในปีไหน ทอท. ก็ยังคงพร้อมให้บริการอยู่เสมอ เนื่องจากที่ผ่านมา เราไม่เคยลดคุณภาพการให้บริการ ไม่เคยลดจำนวนพนักงาน อีกทั้งยังคงมีการฝึกอบรมบุคลากร รวมถึงการต่อใบอนุญาตตามมาตรฐานของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ยังมีการเตรียมความพร้อมของอาคารสถานที่มาโดยตลอด ซึ่งในปีที่ 43 ทอท. ยังเดินหน้าพัฒนาการให้บริการในทุกด้านให้มีประสิทธิภาพและดียิ่งขึ้น อาทิ ทสภ.อยู่ระหว่างทดสอบระบบต่างๆ ของอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) เพื่อเตรียมเปิดให้บริการแก่ผู้โดยสาร ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถของ ทสภ.ในการรองรับปริมาณผู้โดยสารจาก 45 ล้านคนต่อปี เป็น 60 ล้านคนต่อปี และอยู่ระหว่างก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 ซึ่งมีความก้าวหน้า 35.68% คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2566 เพื่อรองรับเที่ยวบินได้เพิ่มขึ้นเป็น 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง และรองรับเที่ยวบินในช่วงที่มีการปิดซ่อมทางวิ่งเส้นที่ 1 และเส้นที่ 2

“จากการที่รัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าราชอาณาจักร จึงคาดว่าจะมีผู้โดยสารเดินทางมายังประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ทอท. มีความมั่นใจว่าจะสามารถให้บริการและอำนวยความสะดวกผู้โดยสารด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความประทับใจให้แก่ผู้ใช้บริการ ซึ่งเป็นความมุ่งมั่นของ ทอท. ในการดำเนินธุรกิจด้วยมาตรฐานเหนือระดับ”นายนิตินัย กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน