ไทยตั้งเป้า ส่งออกไปซาอุฯ 5.6 หมื่นล้านบาท ขยายตัวไม่ต่ำกว่า 6.2% เอกชน 2 ฝ่ายชื่นมื่น ร่วมลงนามเอ็มโอยูรวดเดียว 12 ฉบับ ชี้เป็นสัญญาณดี

วันที่ 6 ก.ค.2565 กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้ร่วมกับจัดงาน “Thai – Saudi Business Forum” เพื่อเป็นการการค้า การลงทุน 2 ฝ่าย ณไอคอนสยามโดยมีนักธุรกิจจากซาอุดีอาระเบียกว่า 100 คนเข้าร่วม โดย ปีนี้ตั้งเป้าที่จะผลักดันส่งออกไปยังซาอุฯให้ได้ 5.6หมื่นล้านบาท ขยายตัวไม่ต่ำกว่า 6.2%

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์กล่าวว่าวันนี้กระทรวงพาณิชย์ ได้มีการจัด Business Matching นักธุรกิจซาอุฯ 70 บริษัท และเอกชนไทย กว่า 200 บริษัท ในสินค้า อัญมณีและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ท่องเที่ยวและโรงแรม สิ่งทอ (เสื้อผ้า /แฟชั่น) สุขภาพ อาหารและเครื่องดื่ม เกษตรและประมง โลจิสติกส์ เป็น เพื่อเร่งขยายการค้า การลงทุนระหว่างกัน ล่าสุดมีการเซ็นสัญญาไปแล้ว 18 คู่

สำหรับภาคลงทุนนั้นได้เชิญชวนให้ซาอุฯเข้ามาลงทุนในไทย เพราะจะได้รับประโยชน์จากเอฟทีเอ 14 ฉบับ 18 ประเทศที่ไทยทำไว้กับประเทศต่างๆ รวมทั้งประโยชน์จาก RCEP ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership) เอฟทีเอที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วย

ปีนี้ตั้งเป้าที่จะผลักดันส่งออกไปยังซาอุฯให้ได้ 5.6หมื่นล้านบาท ขยายตัวไม่ต่ำกว่า 6.2% รวมทั้งเร่งผลักดันให้ซาอุดีอาระเบียใช้ไทยเป็นประตูการค้าไปสู่อาเซียนและเอเชียตะวันออก ขณะที่ไทยจะใช้ซาอุฯเป็นประตูการค้าไปสู่ตะวันออกกลางและกลุ่มประเทศ GCC (กลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ หรือ Gulf Cooperation Council) โดยปลายเดือนส.ค. จะนำคณะนักธุรกิจจากไทยไปเยือนเมืองริยาดเพื่อต่อยอดขยายการค้าต่อไป

สำหรับปี 2564 ไทยและซาอุมีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 2.3 แสนล้านบาท โดยไทยส่งออก 5.1หมื่นล้านบาท ยังขาดดุลซาอุฯอยู่มาก เนื่องจากไทยมีการนำเข้าน้ำมัน ส่วนการส่งออกไปซาอุฯ 5 เดือนแรกปีอยู่ที่ 2.5 หมื่นล้าน ขยายเพิ่มขึ้น 23.3%








Advertisement

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกล่าวว่าวันนี้นักธุรกิจไทยได้ลงนามร่วมกับนักลงทุนซาอุฯรวม 12 ฉบับ เพื่อขยายการค้าการลงทุนถือเป็นสัญญาณที่ดีของการเริ่มต้นการสานสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ

หลังจากมีการฟื้นฟูความสัมพันธ์กันอย่างเป็นทางการ ธุรกิจที่มีการร่วมลงนาม อาทิ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)กับบริษัท National Aquaculture Group, บริษัท โปลิ-เคม กรุ๊ป จำกัด (บริการล้างรถ)กับ บริษัท Nilufer Company,บริษัท ASIA SIGNATURE TOURS จำกัด(มหาชน) กับบริษัท HESEN ALMUSAFER TRAVEL AND TOURISM จำกัด

นาย Krayem S. Alenezi กรรมการและหัวหน้าคณะกรรมการด้านการค้าของหอการค้า มณฑลริยาด ในฐานะผู้นำคณะนักธุรกิจซาอุฯ กล่าวว่า การเยือนไทยเป็นหนึ่งในแผนการขับเคลื่อนและขยายการค้า การลงทุน ตามนโยบาย Saudi Vision 2030 ของซาอุฯตั้งเป้าขยายการลงทุนจาก 19.29 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ให้เพิ่มขึ้นเป็น 103.5ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

โดยมุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ลดการพึ่งพาน้ำมัน และมีแผนพัฒนาระบบโลจิสติกส์เชื่อมโยงอีอีซีของไทย เพื่อยกระดับระบบขนส่งโลจิสติกส์ของสองประเทศ

มั่นใจการเยือนไทยจะส่งผลต่อมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างกันมากขึ้นหลายหมื่นล้านบาท โดยเฉพาะการส่งออกปุ๋ยและอุปกรณ์การเกษตรของฝ่ายซาอุฯ

นอกจากนี้จะมีการปลดล็อกอุปสรรคด้านการส่งออก-นำเข้าในสินค้าต่าง ๆ อาทิ อาหารทะเลกระป๋อง เป็นต้น ซึ่งซาอุฯ สนใจระบบการรับรองมาตรฐานสินค้าฮาลาล รวมถึงระบบการจัดการห้องปฏิบัติการของศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่าธนาคารไทยเร่งยกระดับเชื่อมโยงการเงินและการค้าแบบไร้รอยต่อ ผ่านโครงการ Smart Financial and Payment Infrastructure for Business โครงสร้างพื้นด้านการเงินดิจิทัลแบบครบวงจร ทำให้เกิดเชื่อมโยงข้อมูลธุรกรรมการค้า

การชำระเงิน และภาษีบนระบบออนไลน์ เปลี่ยนจากการค้าแบบใช้เอกสารกระดาษเป็นใช้ระบบดิจิทัล และโครงการ National Digital Trade Platform (NDTP) พัฒนาแพลตฟอร์ม อำนวยความสะดวกให้กับการนำเข้าและส่งออกของประเทศ

นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ได้มีการปรับปรุงกฎเกณฑ์ให้เอื้อต่อการทำการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น เปิดกว้างทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ ไม่จำกัดเฉพาะธุรกรรมที่เกี่ยวกับการป้องกันความเสี่ยง (hedging) ทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศได้โดยใช้เอกสารประกอบน้อยลง เชื่อว่าจะสนับสนุนให้การค้าระหว่างไทย-ซาอุฯให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งในอนาคต

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน