นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรม เดือนมิ.ย. 2565 จัดโดยสมาคมโรงแรมไทย และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า ผลสำรวจระหว่างวันที่ 13-26 มิ.ย. 2565 จากผู้ตอบแบบสำรวจจำนวน 137 แห่ง รวมโรงแรมที่เป็น AQ, Hospitel และ Hotel Isolation พบ อัตราการเข้าพักเฉลี่ยเดือนมิ.ย. เฉลี่ยอยู่ที่ 38% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า ที่ 36% ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ทยอยเพิ่มขึ้น หลังมีการผ่อนคลายนโยบายการเปิดประเทศเพิ่มเติม

อัตราการเข้าพักของโรงแรมปรับเพิ่มขึ้นในเกือบทุกภูมิภาค ยกเว้นโรงแรมในภาคใต้และภาคตะวันออกที่ปรับลดลงเล็กน้อย เนื่องจากเป็นช่วงโลว์ซีซั่น ประกอบกับผลของมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐที่ทยอยหมดลง

สำหรับอัตราการเข้าพักในเดือนก.ค. 2565 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากเดือนมิ.ย. ส่วนหนึ่งจากการยกเลิกระบบ Thailand Pass สำหรับชาวต่างชาติ และการขยายสิทธิโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 4 ส่วนขยาย” อีกจำนวน 1.5 ล้านสิทธิใหม่ ซึ่งได้เริ่มเปิดจองสิทธิเมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา

“หลังการเปิดประเทศเต็มรูปแบบ โรงแรมส่วนใหญ่ประเมินว่าอัตราการเข้าพักในช่วง Q4/65 จะมากกว่า 50% โดยเฉพาะโรงแรมขนาดใหญ่”

นางมาริสา กล่าวว่า หลังการยกเลิก Thailand Pass และไม่บังคับสวมหน้ากากอนามัย ส่งผลดีต่อภาคธุรกิจโรงแรม พบสัญญาณการฟื้นตัวชัดเจนขึ้น โดยปัจจัยสนับสนุนหลักที่ทำให้นักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น มาจากความต้องการท่องเที่ยวไทยในระดับสูง เนื่องจากไม่ได้ท่องเที่ยวต่างประเทศมานาน และเข้าสู่วันหยุดหน้าร้อน (Summer Holiday) ของนักท่องเที่ยวยุโรป และการเข้าสู่ช่วงหยุดโรงเรียน (School Holiday) ของนักท่องเที่ยว ปัจจัยที่กดดันขณะนี้คือ ปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นทั่วโลก ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการโดยสารเที่ยวบินระยะไกล

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจโรงแรมเป็นธุรกิจที่ต้องดำเนินงานตลอด 24 ชั่วโมง เป็นงานบริการที่ต้องเน้นคุณภาพและความพึงพอใจของลูกค้าเป็นหลัก จึงจำเป็นต้องเตรียมพนักงานไว้เพื่อรองรับการให้บริการทุกช่วงเวลา ขณะนี้มีปัญหาการขาดแคลนแรงงานและบุคลากรที่มีทักษะภาคธุรกิจโรงแรม ปัญหาดังกล่าวจะกระจุกอยู่ในพื้นที่ท่องเที่ยวหลัก 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ ชลบุรี และสุราษฎร์ธานี

และพบว่าแรงงานที่ขาดแคลนจะกระจายอยู่ในตำแหน่งต่างๆ เกือบทุกแผนก ผู้ประกอบการจำเป็นต้องรับพนักงานที่ขาดทักษะเข้ามาทำงานเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ส่งผลให้คุณภาพการบริการลดลง สมาคมฯ จึงอยากขอการสนับสนุนจากกระทรวงแรงงานและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง พิจารณาช่วยเหลือการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคธุรกิจโรงแรม และการพัฒนาทักษะแรงงาน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน