พาณิชย์บูมทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ สินค้า GI เสริมความมั่นใจผู้บริโภคลุยตลาดไทย-ต่างประเทศ

พาณิชย์บูมทุเรียนภูเขาไฟ – นางทวีพร ธรรมธร นักวิขาการพาณิชย์ชำนาญการพิเศษ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดศรีสะเกษ เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการส่งเสริมและพัฒนาตลาดสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) อีสานสู่สากล ว่า ปัจจุบันสินค้า GI ของภาคอีสานมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาว่าเป็นสินค้าที่มีอัตลักษณ์ มีคุณภาพสูงตามเกณฑ์ประเมินการยื่นคำขอขึ้นทะเบียน GI โดยสินค้าเหล่านี้มีความพร้อมเข้าสู่ตลาดทั้งในระดับประเทศ และต่างประเทศ

ขณะเดียวกันเพื่อประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น และสร้างโอกาสทางการค้า ผ่านสื่อทั้งออฟไลน์ และออนไลน์ โดยเฉพาะสื่อโซเชียล ให้สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สินค้า GI อีสานได้มีโอกาสเติบโตทั้งในประเทศและสู่สากล

โดยสินค้า GI ที่โดดเด่นของภาคอีสาน 18 แห่ง ภายใต้ชื่อ “GI ของดีอีสาน มาตรฐานโลก” ประกอบด้วยสินค้าเกษตร เกษตรแปรรูป เครื่องปั้นดินเผา และผ้าทอมือ โดยเฉพาะทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ ซึ่งมีการเพาะปลูกกันมานานแล้ว ได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติมาก จึงส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกทุเรียนกันมากขึ้น ปัจจุบัน จ.ศรีสะเกษ มีการเพาะปลูกทุเรียนรวม 15,111 ไร่ มีพื้นที่ให้ผลผลิตแล้ว 5,721 ไร่ จำนวนผลผลิตรวม 8,353 ตัน/ปี

ขณะที่ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ มีพื้นที่ปลูกเฉพาะใน 3 อำเภอ ได้แก่ อ.กันทรลักษ์ อ.ขุนหาญ และอ.ศรีรัตนะ พื้นที่ให้ผลผลิต 5,596 ไร่ ผลผลิตอยู่ที่ 8,191 ตัน หรือคิดเป็น 98% ของปริมาณผลผลิตทุเรียนทั้งหมดของ จ.ศรีสะเกษ โดยพันธุ์ที่นิยมปลูกมากที่สุดคือ พันธุ์หมอนทอง

ทั้งนี้ ในปี 2562 เป็นปีแรกที่ทุเรียนภูเขาไฟได้ผ่านมาตรฐาน GI จำนวน 192 ราย หรือราว 900 ไร่ โดยไม่ถึง 10% ของพื้นที่ปลูกทั้งหมด และในปี 2565 มีเกษตรกรผู้ปลูกยื่นขอ GI จำนวน 388 ราย โดยมี 350 ราย ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GI

นายเวียง สุภาพ เจ้าของสวนลุงเวียง ประธานกลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนกลุ่มพัฒนาการผลิตทุเรียนในพื้นที่ อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกทุเรียน 12 ไร่ปลูกได้ 100 กว่าต้น โดยเกือบทั้งหมดผ่านมาตรฐาน GI แล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ราคาทุเรียนภูเขาไฟอยู่ที่ 100 บาท/ก.ก. แต่หลังได้มาตรฐาน GI ราคาขายหน้าสวนปรับขึ้นมาเป็น 150-200 บาท/ก.ก. ซึ่งราคาสูงกว่าทุเรียนใน จ.จันทบุรี ราว 30%

แต่อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าเมื่อเทียบกับราคาทุเรียนภูเขาไฟด้วยกันที่ยังไม่ได้รับเครื่องหมาย GI ก็ยังถือว่าไม่ได้ต่างกันมาก แต่สิ่งที่ผู้บริโภคจะได้รับคือ ความมั่นใจในคุณภาพของรสชาติและความปลอดภัยของสินค้า GI

สำหรับทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ มีอัตลักษณ์เฉพาะตัวจากการปลูกในสภาพดินภูเขาไฟที่มีแร่ธาตุหลายชนิด ทำให้ผลผลิตมีความพิเศษคือ รสชาติหวานมัน กลิ่นหอมปานกลาง เนื้อละเอียดนุ่ม แห้ง เนื้อเหลืองสม่ำเสมอทั้งผล เปลือกบางสีเขียวอมเหลือง หนามค่อนข้างถี่ เมล็ดเล็ก

อย่างไรก็ดี สำนักงานพาณิชย์จังหวัดศรีสะเกษ มีการส่งเสริมพัฒนาเกษตรกรในด้านการตลาด เพิ่มช่องทางการขายด้วยการจัดงานตามฤดูกาลให้ประชาชนได้เข้าถึงการซื้อทุเรียนภูเขาไฟได้ง่ายขึ้น ซึ่งในปีนี้ผลผลิตที่ขายได้ในหลายช่องทาง แต่ช่องทางหลักยังคงเป็นช่องทางขายผ่านล้ง หรือพ่อค้าคนกลาง 64% ชาวสวนจำหน่ายเอง 32% ขณะที่ขายผ่านออนไลน์ยังมีสัดส่วนเพียง 4%

อีกทั้งยังมีการส่งเสริมการขายโดยการจัดงาน “เทศกาลผลไม้สดจากสวน ทุเรียนภูเขาไฟ เกษตรปลอดภัยและ GI อีสาน” ในห้างสรรพสินค้าที่จ.อุบลราชธานี เมื่อเดือนที่ผ่านมา เป็นต้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน