คลัง บี้รัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายงบลงทุน 3.5 แสนล้านบาท ตั้งเป้าปีงบ 2565 เบิกจ่าย 95% -ฮึ่ม 17 แห่งเร่งสางขาดทุน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวในการเป็นประธานเปิดการสัมมนาผู้บริหารระดับสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ (SOE CEO Fourm) และมอบนโยบาย ว่า หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง แนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศเริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้คาดว่าตัวเลขเศรษฐกิจ (จีดีพี) จะขยายตัวได้ 3-3.5% ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติ อยู่ที่ 8-10 ล้านคน ซึ่งรัฐวิสาหกิจถือเป็นอีกหนึ่งกลไกที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ โดยเป็นแหล่งรายได้ของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และช่วยเหลือประชาชน ผ่านการเร่งเบิกจ่ายเม็ดเงินลงทุน

ปัจจุบันรัฐวิสาหกิจทั้งหมด มีสินทรัพย์รวม 14.8 ล้านล้านบาท มูลค่าใกล้เคียงกับจีดีพีของประเทศ ซึ่งอยู่ที่ 17.6 ล้านล้านบาท และในแต่ละปีรัฐวิสาหกิจมีเม็ดเงินลงทุนรวม ประมาณ 3.5 แสนล้านบาท ขณะที่ส่วนราชการมีเม็ดเงินลงทุนรวม 6-7 แสนล้านบาท รวมทั้ง 2 รวมกว่า 1 ล้านล้านบาท ถือเป็นส่วนสำคัญในระบบเศรษฐกิจอย่างมาก โดยในปีงบประมาณ 2565 ตั้งเป้าหมายการเบิกจ่ายของรัฐวิสาหกิจ อยู่ที่ 95% ของงบลงทุน โดยปัจจุบันเบิกจ่ายไปแล้ว ราว 60% ของงบลงทุน เหลืออีก 30-40% รัฐวิสาหกิจจะต้องเร่งดำเนินการให้ได้ตามกำหนด

โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ที่สำคัญ ได้แก่ ด้านคมนาคมขนส่ง เพราะประเทศไทยยังมีความต้องการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการเชื่อมโยงเครือข่ายคมนาคมทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งมุ่งเน้นประเทศในกลุ่มอาเซียนเป็นหลัก อีกส่วนของการลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่สำคัญ คือ การลงทุนด้านพลังงาน ซึ่งจะสะท้อนไปถึงความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ขณะเดียวกันภาครัฐมีนโยบายในการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี)

ดังนั้นความต้องการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต รัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง อาทิ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เป็นต้น จะมีบทบาทสำคัญ เพื่อสนับสนุนให้อุตสาหกรรมอีวีเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม มีราคาที่เหมาะสม และคุ้มค่าการกว่าซื้อรถยนต์สันดาปในปัจจุบัน ดังนั้นราคาพลังงานจึงต้องมีความเหมาะสมที่จะสนับสนุนให้คนหันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า

“การเร่งลงทุนให้ได้ตามแผนถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากงานล่าช้ากว่ากำหนดรายได้ก็ไม่เข้า และกลายเป็นต้นทุน รวมทั้งยังต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาเพิ่มด้วย โดยในปี 2564 มีรัฐวิสาหกิจ 35 แห่งที่มีกำไร ส่วนอีก 17 แห่งผลการดำเนินงานยังขาดทุนอยู่ แม้ว่าปี 2563-2564 จะมีโควิด-19 มากดดัน แต่สถานการณ์เริ่มคลี่คลายตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ดังนั้นรัฐวิสาหกิจในส่วนนี้ต้องเร่งแก้ปัญหาผลการดำเนินงานที่มีผลขาดทุนต่อเนื่องหลายปี โดยต้องเร่งดูแลเรื่องการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการต่าง ๆ เพื่อสร้างรายได้ให้ตัวเอง หากรู้จักพัฒนาก็จะสร้างรายได้ให้มากกว่าต้นทุน เชื่อว่าไม่เกินความสามารถ” นายอาคม กล่าว

นายอาคม กล่าวอีกว่า ในปี 2566 รัฐวิสาหกิจทั้งหมดต้องให้ความสำคัญในเรื่องเม็ดเงินลงทุน โดยเฉพาะโครงการสำคัญต่อประเทศ และเร่งดำเนินการให้เป็นไปตามแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจ ปี 2566-2570 ที่ให้ความสำคัญใน 4 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1. การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี 2. การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ 3. การเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพ และการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย และ 4. ด้านเกษตร

ขณะเดียวกัน ยังได้ฝากนโยบายให้รัฐวิสาหกิจใน 5 เรื่อง สำคัญ ซึ่งครอบคลุมทุกรัฐวิสาหกิจ ได้แก่ 1. ประสิทธิภาพ โดยรัฐวิสาหกิจจำเป็นต้องเร่งปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน นำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อช่วยลดรายจ่ายในอนาคต 2. ปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้ทันกับเทคโนโลยี โดยใช้นวัตกรรมมาช่วยในการออกแบบบริการเพื่อสร้างรายได้ที่มากขึ้น 3. คุณภาพและมาตรการการให้บริการ โดยโครงการจัดซื้อจัดจ้าง และการให้สัมปทานโครงการต่าง ๆ ต้องมีเรื่องนี้ เพื่อใช้เป็นกรอบในการกำกับสัญญา 4. ความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการและความโปร่งใส และ 5. การบริหารความเสี่ยงด้านการเงิน โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจที่ใช้แหล่งเงินทุนจากการกู้ยืม อยากให้พิจารณาเรื่องการบริหารเงินกู้ หนี้สินขององค์กร หากมีรายได้ให้พยายามปรับโครงสร้างให้ชำระหนี้ได้เร็วขึ้น

“สิ่งที่คาดหวังจากแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจปี 2566-2570 นั้น ในแง่ขององค์กร ผลิตภัณฑ์ และการบริหาร นโยบาย 5 เรื่องดังกล่าวนี้เป็นประเด็นสำคัญ ซึ่งหวังว่ารัฐวิสาหกิจจะถอดภาระกิจจากแผนพัฒนารัฐวิสาหกจิดังกล่าวมาเป็นแผนบริหารงานองค์กรของตัวเอง เพื่อให้สามารถทำหน้าที่ได้เกินกว่ากรอบของแผนพัฒนาฯ โดยยืดเป็นเป้าหมายขององค์กรที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” นายอาคม กล่าว

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน