จับตา ครม. เคาะมาตรการช่วยค่าไฟ-ต่ออายุลดภาษีน้ำมันดีเซล 13 ก.ย. แจงที่ผ่านมารัฐบาลใช้งบกว่า 200,000 ล้านบาท ดูแลบรรเทาค่าครองชีพด้านพลังงาน

วันที่ 12 ก.ย.65 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน กล่าวปาฐกถาพิเศษ “การปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมไทยต่อวิกฤตพลังงานโลก” ในงานสัมมนาวิชาการประจำปี Energy Symposium 2022 ว่า ในวันพรุ่งนี้ (13 ก.ย.) คาดว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะพิจารณามาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าช่วงเดือนก.ย.-ธ.ค.2565 และต่อมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล โดยจะใช้งบกลางปี 2565 และปี 66 ในการดำเนินการ

ที่ผ่านมา รัฐบาล ดำเนินการแก้ไข ทั้งด้านราคาน้ำมันที่สูงมาก โดยผ่านการอุดหนุนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง แล้วกว่า 120,000 ล้านบาท รวมทั้งการลดภาษีสรรพสามิตเป็นการชั่วคราว ด้านราคาค่าไฟฟ้า ได้บริหารจัดการเชื้อเพลิงอื่นที่มีต้นทุนถูกกว่าก๊าซมาผลิตไฟฟ้า เพื่อดูแลค่าเอฟทีให้ปรับขึ้นไม่เกินกรอบที่ประกาศไว้ ซึ่งที่ผ่านมาการไฟฟ้าฝ่ายผลิตรับภาระในเรื่องดังกล่าวแล้วประมาณ 80,000-100,000 ล้านบาท

การอุดหนุนน้ำมันเชื้อเพลิง และการดูแลค่าไฟฟ้าในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้รัฐบาลใช้เงินรวมกว่า 200,000 กว่าล้านบาท ในการดูแลเรื่องดังกล่าว เพื่อลดผลกระทบจากประชาชนให้ได้มากที่สุด ซึ่งวิธีการที่จะชนะพลังงาน ที่ดีที่สุดตอนนี้คือ การประหยัดเท่าที่จะทำได้ แม้ราคาพลังงานหรือราคาน้ำมันของไทยจะสูง แต่เมื่อเทียบกับอาเซียนยังอยู่ในระดับกลาง เทียบกับยุโรปค่าไฟแพงกว่าไทยค่อนข้างมาก”นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวอภิปรายหัวข้อ “วิกฤตเศรษฐกิจและพลังงานโลก” ว่าในปี 2565 จะเป็นปีที่มีความท้าทาย ทั้งจากปัญหาเงินเฟ้อ ความอ่อนแอของเศรษฐกิจและอสังหาริมทรัพย์ของจีน การปรับนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐ รวมถึงสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ลุกลามบานปลายเหนือความคาดหมาย ระหว่างสหรัฐและจีนที่ลุกลามบานปลายขึ้นจากสงครามการค้าที่มีอยู่เดิม และโดยเฉพาะความผันผวนของราคาน้ำมันที่สูงเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้

“ปีนี้เป็นปีที่ท้าทาย ทั้งวิกฤตพลังงานโลก วิกฤตอาหารโลก และวิกฤตการทหารโลกด้วย เป็นมรสุม (Perfect Storm) ที่จะใช้เวลา 2-3 ปี แบ่งเป็น 4 ช่วงสำคัญ คือ นักลงทุนเร่งถอนการลงทุนต่างๆ เพื่อกลับไปถือครองดอลลาร์ เฟดขึ้นดอกเบี้ยสู้เงินเฟ้อ และเงินเฟ้อเริ่มลดลง ช่วงที่ 3 คือช่วงเศรษฐกิจถดถอย(Reccessions)/วิกฤตตลาดเกิดใหม่ และช่วงที่ 4 เฟดกระตุ้นเศรษฐกิจ”นายกอบศักดิ์ กล่าว

โดยปี 2566 ต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศ 7 ด้าน คือ 1.ความขัดแย้งระหว่างประเทศทั้งสหรัฐ รัสเซีย และจีน 2.การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดและธนาคารกลางต่างๆ 3.การลดลงของเงินเฟ้อโลก 4.การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ 5.การเริ่มของภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย 6.การอ่อนตัวของเศรษฐกิจจีนที่จะชัดเจนขึ้น 7.การก่อตัวของวิกฤตในตลาดเกิดใหม่

“ผลกระทบต่อผู้ประกอบการในช่วงต่อไป คือ โอกาสในการส่งออกจะน้อยลงจากเดิม ต้นทุนสินค้าและค่าเงินโลกจะผันผวนอีกระยะ ผู้ประกอบการไทยจะได้รับผลกระทบจากสินค้าจีนเมื่อวิกฤตจีนลุกลาม วิกฤตในตลาดเกิดใหม่จะมีหางเลขกระทบมาไทยช่วงหนึ่งเช่นกัน

ขณะที่การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะทำแบบค่อยเป็นค่อยไปสิ้นปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 1.25% ภายใต้สมมติฐานเศรษฐกิจโตได้ 3% และปี 2566 มองว่าการขึ้นดอกเบี้ยจะเป็นไปด้วยความระมัดระวัง และจำกัดโดยอาจจะขึ้นได้เพียง 1-2 ครั้งเท่านั้น โดยจะชะลอการขึ้นดอกเบี้ยช่วงกลางปี 66 จากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในหลายประเทศทั่วโลกที่ขยายวงกว้างมากขึ้น ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะโตได้มากกว่า 3-4%”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน