คุ้มค่าไหม! ชาวเน็ตถาม หลังขสมก.ใช้งบ 5 แสนบาท จัดซื้อกระบอกเก็บค่าโดยสารอัจฉริยะ 10 เครื่อง เผยมีหน้าจอแสดงข้อมูลรายได้ค่าตั๋ว ปรินต์ตั๋วรถเมล์ได้

เมื่อวันที่ 23 ก.ย.65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊กแฟนเพจ Bangkokbusclub.com ชุมชนคนรักรถเมล์ แชร์ภาพกระบอกเก็บค่าโดยสารชนิดหนึ่ง ที่มีหน้าจอแสดงผลแยกออกมา โดยระบุว่า ในแวดวงรถเมล์ ส่งต่อภาพของเล่นใหม่ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) นั่นคือ “กระบอกเก็บค่าโดยสารอัจฉริยะ” ซึ่งนำจอภาพขนาดเล็ก ต่อเข้าบริเวณปลายของกระบอกตั๋ว

ขณะที่ในโพสต์ดังกล่าวแสดงความคิดเห็นมากมาย ส่วนใหญ่ต่างแนะนำให้ทำแบบรถโดยสารในต่างประเทศ ที่เปลี่ยนจากใช้พนักงานเก็บค่าโดยสาร มาเป็นเครื่องอิเล็กทรอนิกส์สำหรับเก็บค่าโดยสารแทน และรับชำระด้วยวิธีการที่หลากหลายขึ้น ทั้งเงินสด บัตรอิเล็กทรอนิกส์ และการสแกน QR Code

ระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมอุปกรณ์ E-Ticket ที่ ขสมก. เช่าจากกลุ่มร่วมทำงาน

จากการตรวจสอบข้อมูลในเอกสารการจัดซื้อจัดจ้างของ ขสมก. พบว่าโครงการพัฒนากระบอกเก็บค่าโดยสารอัจฉริยะ กำหนดราคาประมูลตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 พ.ค.65 มีผู้ชนะการเสนอราคาคือ บริษัท โปร อินไซด์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเกี่ยวกับการบริหารโครงการ การติดตั้งการดูแลและบำรุงรักษา ในเครือสกาย ไอซีที (Sky ICT)

โครงการดังกล่าวกำหนดงบประมาณไว้ที่ 500,000 บาท สำหรับการพัฒนากระบอกเก็บค่าโดยสารอัจฉริยะจำนวน 10 เครื่อง พร้อมกับการพัฒนาและติดตั้งระบบบริหารจัดการข้อมูลจากกระบอกเก็บค่าโดยสารอัจฉริยะ มีกำหนดการส่งมอบงานภายใน 90 วัน

ขสมก.กำหนดคุณลักษณะของกระบอกเก็บค่าโดยสารดังกล่าว ดังนี้








Advertisement

ตัวกระบอกทำด้วยวัสดุที่ทนทาน มีจอสัมผัสสำหรับแสดงผลขนาดไม่น้อยกว่า 2.8 นิ้ว (วัดตามแนวทแยง) และมีหน้าจอสัมผัส (Stylus) สำหรับสั่งงานสัมผัสกับจอภาพ

สามารถป้อนค่าราคาค่าโดยสารตามราคามาตรฐานที่กำหนดไว้ในแต่ละเส้นทางของรถโดยสาร

มีปุ่มราคาด่วนให้สามารถเรียกใช้ใด้สะดวก โดยปุ่มนี้จะเรียงลำดับตามราคาค่าโดยสาร สามารถลบและแก้ไขราคาค่าโดยสารได้

ไม่สามารถสั่งพิมพ์ตั๋วโดยสารเดิมซํ้าได้

สามารถสั่งพิมพ์ตั๋วโดยสารไปยังเครื่องพิมพ์แบบพกพาได้

สามารถรองรับการส่งข้อมูลจำหน่ายตั๋วไปยังระบบคลาวได้โดยผ่านระบบ Wi-Fi 2.4 GHz และ/หรือระบบ SIM ผ่านเครือขายสัญญาณโทรศัพท์มือถือ

สามารถแสดงผลรวมราคาค่าโดยสารที่จำหน่ายสุทธิ และจำนวนตั๋วโดยสารที่ออกประจำวันที่ใช้งานในขณะนั้น

มีแบตเตอรี่ชนิดชาร์จได้ ขนาดแบตเตอรี่ไม่ต่ำกว่า 3,500 mAh พร้อมสาย USB สำหรับชาร์จ

มีเครื่องพิมพ์ตั๋วโดยสารแบบความร้อนชนิดพกพา (Portable Thermal Printer) มีแบตเตอรี่ในตัวและสามารถชาร์จได้

ขณะที่ระบบบริหารจัดการข้อมูลจากกระบอกเก็บค่าโดยสารอัจฉริยะ จะต้องออกแบบให้ระบบสามารถรายงานรายได้จากการซื้อตั๋ว รายชั่วโมง รายวัน รายเดือน และรายปี โดยต้องสามารถรายงานเป็นรายกระบอกเก็บค่าโดยสาร หรือรายงานเป็นรายสายเดินรถได้

รวมถึงรองรับการรายงานรายได้จากกระบอกเก็บค่าโดยสารอัจฉริยะแต่ละกระบอก แสดงได้ตามหมายเลขรถ ตามรายชั่วโมง รายวัน รายเดือน รายปี รายงานรายได้รวม รายงานเปรียบเทียบจำนวนรายได้จากกระบอกเก็บค่าโดยสารอัจฉริยะแสดงได้ตามหมายเลขรถ ตามรายขั่วโมง รายวัน รายเดือน รายปี และรายงานเปรียบเทียบจำนวนประเภทตั๋วที่ออกรวม

ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2560 ขสมก. เซ็นสัญญาเช่าระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมอุปกรณ์ (E-Ticket) จากกลุ่มร่วมทำงาน นำโดย บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) เพื่อติดตั้งในรถเมล์ ขสมก.จํานวน 2,600 คัน วงเงิน 1,665 ล้านบาท ระยะสัมปทานรวม 5 ปี เริ่มให้บริการระยะแรก 1 ตุลาคม 2560 ในรถเมล์ ขสมก. 800 คันแรก และทยอยติดตั้งจนครบ 2,600 คัน

กระทั่งเดือนมีนาคม 2562 ขสมก.ยกเลิกการใช้งานระบบ E-ticket ทั้งหมด และเปลี่ยนมาใช้เครื่อง EDC (Electronic Data Capture) เพื่อรับชำระค่าโดยสารแทน รองรับการใช้งานทั้งบัตรเดบิต บัตรเครดิต ระบบ EMV Contactless บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และการชำระแบบ QR Code โดยเริ่มใช้งานในรถเมล์สาย 510 (ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ) และใช้งานบนรถเมล์ ขสมก.ครบทุกสายในปัจจุบัน

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน