คนไทยทำใจ! ใช้น้ำมันแพงยาวไป-ครม.เคาะแผนกองทุนฯกู้เงิน 1.5 แสนล้าน ทยอยกู้ 7 ปี

คนไทยทำใจน้ำมันแพง – นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติแผนการกู้เงิน แผนการใช้จ่ายเงินกู้ และแผนการชำระหนี้ของการกู้ยืมเงิน วงเงิน 1.5 แสนล้านบาทของ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ตามหลักเกณฑ์การกู้ยืมเงินของสำนักงาน ตามที่ ครม.เห็นชอบแล้ว เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2565 โดยจะทยอยกู้เงินจำนวน 8 ครั้ง ในเวลา 7 ปี

สำหรับเงินกู้จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 (กู้ยืม ครั้งที่ 1-2) วงเงิน 30,000 ล้านบาท ตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2566 โดยแผนการใช้จ่ายเงินกู้ จะทยอยใช้จ่ายเงินกู้ตั้งแต่เดือนธ.ค. 2565 – ก.พ. 2566 และจะทยอยชำระหนี้ได้ตั้งแต่เดือนส.ค. 2566 และชำระหนี้ครบภายในเดือนก.พ. 2568 ส่วนที่ 2 (กู้ยืม ครั้งที่ 3-8) วงเงิน 120,000 ล้านบาท

ทยอยดำเนินการทั้งหมด 6 ครั้ง (วงเงินที่ 3-8) โดยแผนการใช้จ่ายเงินกู้ ทยอยใช้เงินกู้ (เบิกเงินกู้) ตั้งแต่เดือนก.พ. – ก.ค. 2566 และทยอยชำระหนี้ได้ตั้งแต่เดือนก.พ. 2568 และชำระหนี้ครบภายในเดือนต.ค. 2572 ซึ่งการชำระหนี้การกู้ยืมเงิน 150,000 ล้านบาท จะมีแหล่งชำระคืนจากเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จากการประมาณการกระแสเงินสด ซึ่งจะสามารถชำระหนี้ภายใน 7 ปี โดยจะทยอยชำระหนี้คืนได้ตั้งแต่เดือนส.ค. 2566 และชำระหนี้ครบถ้วนภายในเดือนต.ค. 2572

“ครม. มอบให้คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง สามารถพิจารณาปรับแผนการกู้เงิน แผนการใช้จ่ายเงินกู้ และแผนการชำระหนี้ ให้เหมาะสมให้สอดคล้องกับสถานการณ์ราคาน้ำมัน เชื้อเพลิง ฐานะการเงินของกองทุน หรือสภาวะตลาดเงินในช่วงเวลานั้นๆ โดยจะต้องสอดคล้องกับแผนการบริหารจัดการหนี้สาธารณะด้วย ซึ่งจะเห็นจากการกู้เงินของกองทุนน้ำมัน จะถูกแบ่งเป็น 2 ก้อน เพื่อให้หนี้ที่กระทรวงของภาครัฐสอดคล้องกับแผนการบริหารจัดการหนี้สาธารณะ”

นายอนุชา กล่าวว่า ณ วันที่ 16 ต.ค. 2565 กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีสถานะติดลบ 125,690 ล้านบาท แต่วิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ยังคงยืดเยื้ออันส่งผล กระทบให้ในช่วงพ.ย. 2565 – ก.พ. 2566 ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงตลาดโลกยังคงอยู่ในระดับสูงและมีความผันผวน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ประกอบกับประชาชนยังได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 และปัญหาอุทกภัย

รัฐบาลจึงเห็นถึงความจำเป็นจะต้องดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน ส่งผลให้กองทุนมีรายจ่ายมากกว่ารายรับ โดย ณ วันที่ 20 ต.ค. 2565 นี้มีรายจ่ายสุทธิประมาณ 222 ล้านบาทต่อวัน หรือประมาณ 6,882 ล้านบาทต่อเดือน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน