นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า อีก 2 เดือนจากนี้ (พ.ย.-ธ.ค. 2565) เชื่อว่าราคายางพาราจะปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงปิดกรีด ผลผลิตยางออกสู่ตลาดประมาณ 3-4% ของผลผลิตรวมทั้งปี จากปกติผลผลิตจะมี 9-10% ของผลผลิตรวมทั้งปี และสต๊อกยางพาราในประเทศได้รับผลกระทบจากผลผลิตทั้งปีลดลง 43% จากน้ำท่วมในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ ภาคอีสาน และใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกยางสำคัญจึงกระทบต่อผลผลิตยางพารา

ดังนั้นราคายางพาราในช่วงปลายปีนี้จะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากเอกชนผู้ประกอบการยางพารา ต้องเร่งซื้อยางพาราเพื่อส่งมอบให้กับคู่ค้า หลังจากในช่วงที่ผ่านมาหลายบริษัทปิดงบบัญชี มีการชะลอการซื้อยางพารา เพื่อทำบัญชีให้สวยงาม โดยราคายางก้อนถ้วยอยู่ที่ 40 บาท/ กิโลกรัม (ก.ก.) ยางแผ่นรมควันชั้น 3 ราคาอยู่ที่ประมาณ 46-47 บาท/ก.ก. และน้ำยางสดอยู่ที่ราคา 40 บาท/ก.ก. ราคายางพาราที่ลดลงมาในระดับนี้ถือว่าอยู่ในจุดต่ำสุดและพร้อมที่จะผงกหัวขึ้นแล้ว

“ราคายางพาราจากนี้จะปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลผลิตยางพาราของโลกและไทยลดลง เพราะประเทศผู้ปลูกยางพารา ไม่ว่าจะเป็น ไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม ต่างได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมทั้งสิ้น ส่งผลให้ผลผลิตทั่วโลกลดลงอยากมาก รวมทั้งผลผลิตไทยลดลง 43% จากปีก่อนหน้า”

นายณกรณ์ กล่าวว่า ยอมรับว่าราคายางพาราไตรมาส 4 ปี 2565 ช็อกเล็กๆ กับแถลงการณ์ของ นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ที่ยังยืนยันจะเข้มงวดนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero-COVID ) ต่อ ระหว่างประชุมคณะกรรมการประจำกรมการเมือง ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน รวมถึงการเฝ้าระวังเศรษฐกิจโลกทั้งทางฝั่งสหรัฐอเมริกา และฝั่งสหภาพยุโรป ที่หลายฝ่ายมองว่าเศรษฐกิจโดยรวมจะเข้าสู่ภาวะถดถอย

ดังนั้นปี 2566 คาดว่า อุตสาหกรรมถุงมือยางจะเติบโต 12-15% หลังจากที่หดตัวลง 19% ในปี 2565 จากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง และจีนได้รับความช่วยเหลือเรื่องของราคาน้ำมันราคาถูกจากรัสเซีย ส่งผลให้จีนมียางสังเคราะห์จากน้ำมันดิบใช้เอง ความต้องการในการนำเข้ายางพาราในการผลิตถุงมือยางจึงลดลง รวมถึงโรงงานผลิตถุงมือยางที่หลายบริษัทถูกตั้งขึ้นในช่วงโควิด-19 ระบาดใหม่ๆ ขณะนี้ สามารถผลิตถุงมือยางป้อนระบบแล้ว

“ปี 2566 ยังต้องจับตาสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจในภาพรวม สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ที่คาดกันว่าปี 2566 เศรษฐกิจอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย รวมทั้งตลาดจีน ทั้งหมดล้วนมีผลต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยรวมถึงราคายางพารา แต่อย่างไรก็ตาม กยท. ยังคงดำเนินโครงการช่วยเหลือเกษตรกร ผ่านโครงการชะลอการขายยางร่วมกับสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และโครงการรักษาเสถียรภาพราคายางอย่างต่อเนื่อง”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน