นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยถึงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนต.ค. 2565 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน พบว่าการส่งออกมีมูลค่า 21,772.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 4.4% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 801,273 ล้านบาท ขยายตัว 6.7% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในเดือนต.ค. หดตัว 2.8%) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 22,368.8 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 2.1% และมีมูลค่า ในรูปเงินบาทเท่ากับ 832,875 ล้านบาท ขยายตัว 9.1% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทย เดือนต.ค. 2565 ขาดดุลเท่ากับ 596.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับ 31,602 ล้านบาท

ส่วนภาพรวมการค้าระหว่างประเทศช่วง 10 เดือนแรก (ม.ค.-ต.ค.) ปี 2565 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน พบว่าการส่งออกมีมูลค่า 243,138.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 9.1% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 8,325,091 ล้านบาท ขยายตัว 19.7% เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในช่วง 10 เดือน ขยายตัว 7.4%

ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 258,719.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 18.3% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 8,981,477 ล้านบาท ขยายตัว 29.8% ส่งผลให้ดุลการค้าช่วง 10 เดือน ขาดดุลเท่ากับ 15,581.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 656,386 ล้านบาท การส่งออกรวมปี 2565 น่าจะขยายตัวที่ 7-8% มูลค่า 2.92 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และการส่งออกปี 2566 ขยายตัวที่ 2-3% มูลค่า 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

“ขณะนี้การส่งออกไทยเริ่มชะลอตัวลง เดือนต.ค. ติดลบ 4.4% ส่วน เดือนพ.ย. คาดว่าจะติดลบ 1-2% เนื่องจากไร้แรงหนุนแล้ว เพราะค่าเงินบาทได้แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วมากถึง 8% ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ล่าสุดอยู่ที่ 34.7 บาท/เหรียญสหรัฐ ต่ำกว่าแนวต้านที่ 35 บาท/เหรียญสหรัฐ ขณะที่คู่แข่งอย่างเวียดนาม และจีน ค่าเงินยังอ่อนกว่า ทำให้ไทยสูญเสียอำนาจในการแข่งขันด้านการส่งออก ผู้ส่งออกเริ่มกังวลมากๆ จากปัญหาบาทแข็งค่าเร็ว และยังมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกทรงตัว อยู่ในระดับสูง ทำให้เศรษฐกิจคู่ค้าชะลอ ยังมีปัญหาวัตถุดิบขาดแคลน อาทิ เซมิคอนดักเตอร์ และราคาผันผวน ข้าวสาลี ปุ๋ย เป็นต้น ขณะที่ราคาน้ำมันตลาดโลกปีหน้าคาดว่าจะมีความผันผวนมาก เพราะ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ยังไม่คลี่คลาย”

นายชัยชาญ กล่าวว่า สรท. ข้อเสนอแนะให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาให้กับภาคการส่งออกของไทย โดยขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทไม่ให้มีความผันผวนเร็วเกินไป รวมทั้งคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อประคองการฟื้นตัวภาคธุรกิจและไม่เป็นการซ้ำเติมรายจ่ายของผู้บริโภคและต้นทุนของผู้ประกอบการมากเกินไป

นอกจากนี้ ขอให้ภาครัฐช่วยควบคุมหรือปรับขึ้นค่าไฟฟ้า (เอฟที) ทั้งในภาคการผลิตและภาคครัวเรือน แบบค่อยเป็นค่อยไป, พิจารณาสนับสนุนงบประมาณในการยกระดับการผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับนโยบาย BCG ของรัฐบาล รวมทั้ง เร่งดำเนินการความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ที่สำคัญ อาทิ Thai-EU, Thai–UK, Thai-Turkey, RCEP (อินเดีย) และ FTAAP

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน