นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น เกี่ยวกับโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ไทย-ญี่ปุ่น เส้นทาง กทม.-เชียงใหม่ ว่า ญี่ปุ่นได้นำเสนอผลรายงานการศึกษากรณีที่ฝ่ายไทยขอปรับลดต้นทุนโครงการเพื่อลดภาระงบประมาณค่าก่อสร้างตามความเห็นของรัฐบาลไทยว่า ที่ประชุมได้หารือร่วมกัน 3 ประเด็นคือ ต้นทุนโครงการ ความเร็วของรถไฟ และการพัฒนาพื้นที่สถานี สำหรับเรื่องต้นทุนโครงการ 2 ฝ่าย ตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อพิจารณาปรับลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นเพื่อลดค่าก่อสร้าง โดยญี่ปุ่นเสนอว่าต้องการลดต้นทุนโครงการจะต้องตัดระยะทางโครงการให้สั้นลง และต้องยกเลิกการก่อสร้างบางสถานีออกไปเพื่อประหยัดงบ แต่จะส่งผลกระทบต่อปริมาณผู้โดยสารทำให้เข้ามาใช้บริการ เพราะรถจอดเพียงไม่กี่สถานีเท่านั้น

ทั้งนี้ หากเราจะลดต้นทุนก่อสร้าง ช่วงเฟสแรก กทม.-พิษณุโลก อาจจะต้องตัดบงสถานีออก เช่น ตัดสถานีพิจิตร ออกหรือตัด 2 สถานี คือ ลพบุรี และมาก่อสร้างเพิ่มในภายหลัง ซึ่งช่วยลดต้นทุนได้ แต่เราคิดว่าไม่คุ้มกับผู้โดยสารที่จะหายไป ซึ่งต้องหารือ 2 ฝ่ายร่วมกันอีกครั้งว่าจะมีแนวทางอื่นๆ ที่จะปรับลดต้นทุนหรือไม่

นายอาคมกล่าวถึงประเด็นเรื่องของความเร็วนั้น ยืนยันว่าจะใช้ระบบเทคโนโลยีของรถไฟชินคันเซน ซึ่งจะเป็นรถไฟความเร็วสูง 300 ก.ม./ชม. ตามเดิม เพราะจากผลการศึกษาของญี่ปุ่นระบุว่า หากปรับมาใช้ความเร็วต่ำ ประชาชนจะเลือกเดินทางโดยระบบอื่นที่ไม่ใช่รถไฟแทน โดยพบว่าหากประชาชนเดินทางระยะไม่เกิน 500 ก.ม. การเดินทางโดยรถยนต์จะคุ้มค่ากว่าหากเทียบกับเดินทางโดยรถไฟความเร็วปานกลาง

แต่หากการเดินทางระยะไกลตั้งแต่ 500 ก.ม.ขึ้นไปการเดินทางโดยรถไฟจะคุ้มกว่า และที่ระยะทาง 750 ก.ม. ถือเป็นระยะที่คนส่วนใหญ่ 80-90% จะตัดสินใจเปลี่ยนจากทางถนนมาเดินทางโดยรถไฟเพราะเป็นจุดที่คุ้มค่าสูงสุด

“ญี่ปุ่นระบุว่าการเดินทางระยะทางที่น้อยกว่า 500 ก.ม. ขับรถยนต์จะคุ้มกว่า แต่หากเดินทางระยะทาง 500-750 ก.ม.ขึ้นไป เดินทางโดยรถไฟคุ้มค่ากว่า เพราะฉะนั้นความเร็วของรถไฟก็ถือว่าสำคัญ หากลดความเร็วลงมา การเดินทางก็ช้าลง คนก็จะเลือกไปเดินทางโดยเครื่องบินมากกว่า”

นายอาคมกล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นเรื่องแนวทางการพัฒนาพื้นที่บริเวณสถานีซึ่ง ญี่ปุ่นเสนอว่าหากจะให้โครงการเกิดความคุ้มค่าจะต้อง มีการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีด้วย โดยจะทำให้โครงการมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสูงถึง 14% แต่หากไม่การพัฒนาพื้นที่มีแต่สถานีจะมีผลตอบแทนเพียงแค่ 7% เท่านั้น ซึ่ง 2 ฝ่ายต้องหารือว่าจะร่วมกับพัฒนาพื้นที่ตลอดเส้นทางได้อย่างไร

นายอาคมกล่าวต่อว่า ขณะนี้รัฐบาลไทยมีนโยบายที่จะลดภาระงบประมาณด้านการลงทุน ดังนั้นจึงเสนอขอให้ ญี่ปุ่นกลับไปศึกษาแนวทางการลงทุนที่เหมาะสมให้กับไทยด้วย เบื้องต้นได้นำเสนอแนวทางขอให้รัฐบาลญี่ปุ่นเข้ามาร่วมทุนในโครงการดังกล่าว ขณะที่ญี่ปุ่นเสนอว่ามีความพร้อมที่จะให้ฝ่ายไทยกู้เงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อดำเนินโครงการ

“รัฐบาลไทยต้องการลดภาระหนี้ โดยได้เสนอให้ญี่ปุ่นเข้าร่วมลงทุนในโครงการนี้ ซึ่งญี่ปุ่นก็ต้องกลับไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และศึกษารูปแบบการลงทุน ร่วมทุน รวมไปถึงรายละเอียดภาพรวมโครงการ ทั้งการปรับลดต้นทุน และแนวทางการพัฒนาพื้นกลับมาเสนอให้ฝ่ายไทยพิจารณาอีกครั้งก่อนที่จะนำผลการศึกษาทั้งหมดเสนอให้ที่ประชุมครม.พิจารณาอนุมัติในเดือนมี.ค.นี้”








Advertisement

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน