ดีอีเอส จับมือ ETDA ชวน 6 หน่วยงาน อัพเดตความคืบหน้า ดิจิทัลไอดี ประเทศตั้งเป้าคนไทยต้องเข้าถึงได้หลายบริการได้ด้วยดิจิทัลไอดีเดียว

วันที่ 23 ธ.ค.2565 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) จับมือ 6 หน่วยงาน ได้แก่ กรมการปกครอง, กรมสรรพากร, สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน), สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, สำนักงาน กสทช., บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด

จัดงานแถลงข่าว “Digital ID framework เปิดกลยุทธ์เดินหน้า…ดิจิทัลไอดีไทย” ตั้งโต๊ะโชว์ความคืบหน้าการเร่งเครื่อง Digital ID (ดิจิทัลไอดี) ประเทศ พร้อมเปิดทิศทางการไปต่อภายใต้ Digital ID framework Phase 1 ตั้งเป้าหมายคนไทยต้องเข้าถึงหลายบริการทั้งของภาครัฐและเอกชนได้…อย่างไร้รอยต่อ ด้วย ดิจิทัลไอดีบัญชีเดียว แค่ลงทะเบียนพิสูจน์ตัวตนครั้งเดียวก็ใช้งานได้

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประธานในงาน กล่าวว่า วันนี้สำหรับคนไทยแล้ว ดิจิทัลไอดี หรือการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลไม่ใช่เรื่องใหม่อีกต่อไป เพราะทุกกิจกรรม การทำธุรกรรมออนไลน์ ต่างมีกระบวนการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลเข้ามาเกี่ยวข้อง ที่จะช่วยบอกได้ว่า เราเป็นใคร ไม่ต่างจากการมีบัตรประจำตัวประชาชน บนโลกออฟไลน์

ดังนั้น ดิจิทัลไอดี เป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะทำให้เจ้าของ ID ผู้ใช้งาน สามารถเข้าถึงและเข้ารับบริการดิจิทัลต่างๆ จากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้อย่างสะดวกทุกที่ทุกเวลา ปลอดภัยน่าเชื่อถือ ไม่ถูกปลอมแปลง ยกระดับการให้บริการทั้งของภาคเอกชนและภาครัฐ ให้มีความคล่องตัว ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดความแออัด ลดค่าใช้จ่ายในการให้บริการในระยะยาว

ที่ผ่านมา รัฐบาลให้ความสำคัญในการเร่งขับเคลื่อนให้ประเทศเกิดการพัฒนาและใช้งานดิจิทัลไอดี มาอย่างต่อเนื่อง และยังเร่งให้เกิดจัดทำกฎหมายมาตรฐาน ตลอดจนหลักเกณฑ์การดูแลผู้ให้บริการการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ที่จะบัญญัติไว้ใน ร่างพ.ร.ฎ.ว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการเกี่ยวกับระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลที่ต้องได้รับใบอนุญาต พ.ศ. …. ล่าสุด นายกฯ นำร่างพ.ร.ฎ.ขึ้นทูลเกล้าฯ แล้ว รวมถึงการจัดทำมาตรฐานด้านเทคนิคหรือแนวทางการพัฒนาและใช้งานระบบ ดิจิทัลไอดีของประเทศ เพื่อให้การใช้งานมีมาตรฐานระดับสากล และเพื่อส่งเสริมให้เกิดการบูรณาการและผสานความร่วมมือในการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน

กระทรวงดิจิทัลฯ จึงร่วมมือกับกระทรวง กรม รวมถึงหน่วยงานราชการและองค์กรภาคเอกชนหลายหน่วยงาน จัดทำ กรอบการขับเคลื่อนการให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลประเทศไทย ระยะที่ 1 พ.ศ. 2565 – พ.ศ. 2567 หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า Digital ID Framework ขึ้น เพื่อเป็นกรอบแนวทางของประเทศในการบูรณการความร่วมมือและการขับเคลื่อนงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ภายใต้แผนปฏิบัติการที่จะช่วยเร่งผลักดันให้การดำเนินงานบรรลุผลสำเร็จ สอดคล้องกับสถานการณ์ความต้องการใช้งานของประชาชน ภาคธุรกิจและภาครัฐ

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า เป้าหมาย ของ Digital ID framework คือการผลักดันให้บริการดิจิทัลไอดีไปถึงมือประชาชน เข้าถึงบริการออนไลน์ของภาครัฐและเอกชนได้ โดยไม่ต้องลงทะเบียนซ้ำซ้อน มีบริการที่ประชาชนเข้าใช้งานด้วยดิจิทัลไอดีได้จริง ซึ่งวันนี้มีบริการนำร่องต่างๆ เกิดขึ้นแล้ว เช่น การยืนยันตัวตนด้วยดิจิทัลไอดี เพื่อยื่นภาษีออนไลน์ของกรมสรรพากรการแจ้งย้ายที่อยู่ด้วยตนเองของกรมการปกครอง หรือ การเปิดบัญชีเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ แต่บริการเหล่านี้จะต้องมีเพิ่มขึ้น หลากหลายขึ้นและต้องมีโครงสร้างพื้นฐานและบริการที่พร้อมใช้งานอย่างครอบคลุมทั้งการใช้งานของบุคคล นิติบุคคล และบุคคลต่างชาติ

Digital ID framework ในระยะที่ 1 มีทั้งหมด 8 กลยุทธ์ ได้แก่ 1.มีดิจิทัลไอดีที่ครอบคลุม คนไทย นิติบุคคล และคนต่างชาติ พร้อมต่อยอดใช้งานทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ 2.ประชาชน สามารถใช้ดิจิทัลไอดี ที่เหมาะสม เข้าถึงบริการออนไลน์ได้ 3.กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานหลักที่ให้ข้อมูลและบริการ สนับสนุนการพิสูจน์ตัวตนคนไทยและคนต่างชาติที่มีถิ่นที่อยู่ในไทย

4.ใช้ดิจิทัลไอดีในการทำธุรกรรมของนิติบุคคลเป็นการใช้ดิจิทัลไอดี บุคคลธรรมดาของผู้มีอำนาจของนิติบุคคลนั้น ร่วมกับการมอบอำนาจ หากจำเป็น 5.กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นหน่วยงานหลักที่ให้ข้อมูลนิติบุคคล สนับสนุนการทำธุรกรรมของนิติบุคคลด้วยดิจิทัลไอดี

6.ประชาชน เข้าถึงบริการออนไลน์ของรัฐได้ด้วยดิจิทัลไอดีที่น่าเชื่อถือ โดยไม่ต้องพิสูจน์ตัวตนซ้ำซ้อน 7.ETDA ขับเคลื่อนนโยบาย ดิจิทัลไอดีในภาพรวม พร้อมพัฒนามาตรฐานกลาง ที่หน่วยงานกำกับแต่ละ Sector สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับ Sector ของตนได้อย่างเหมาะสม และ 8.DGA พัฒนามาตรฐานบริการดิจิทัลไอดีของรัฐ ให้มีมาตรฐาน สอดคล้องและเชื่อมโยงระหว่างรัฐและเอกชนได้ โดยสามารถอ่านฉบับเต็มได้ที่ https://bit.ly/3Pbbgbc

ด้านนายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่าวันนี้เรามีการขับเคลื่อนงานดิจิทัลไอดี ด้วยแนวทางแบบผสมผสาน ผู้ให้บริการจากภาครัฐและเอกชนต่างร่วมมือกัน เพื่อให้ประชาชนได้มีทางเลือกใช้บริการ เข้าถึงบริการของรัฐและเอกชนได้ด้วยดิจิทัลไอดีที่ตัวเองมีอยู่ ดังนั้น การขับเคลื่อนระบบนิเวศทางดิจิทัล ด้านดิจิทัลไอดีมีกลยุทธ์หลักตาม Digital ID Framework ที่เป็นแกนกลางของการทำงานในเรื่องนี้แล้ว ซึ่งในเชิงการพัฒนาการให้บริการด้านดิจิทัลไอดี เพื่อตอบสนองต่อความต้องการให้เกิดการใช้งานในวงกว้างได้ดีขึ้นนั้น สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงการทำงานร่วมกันของผู้เล่นแต่ละส่วนใน Digital ID Ecosystem มี 3 แนวทาง ประกอบด้วย

(1) ความปลอดภัย ประกอบด้วย การสร้างมาตรฐานกลางการให้บริการและการเชื่อมต่อ ให้การทำงานร่วมกัน และการเชื่อมโยงระหว่างกันได้ ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น การดูแลให้บริการมีมาตรฐาน สอดคล้องตามเกณฑ์และมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากบริการด้านดิจิทัลไอดี เป็นบริการที่มีความสำคัญ จึงหลีกเหลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องบริหารจัดการและควบคุมความเสี่ยงในการใช้งาน ผ่านกลไกการกำกับดูแลที่เหมาะสม การต่อยอดด้วยแนวคิด Self-Sovereign Identity (SSI) และ Verifiable Credential (VC) ต่อยอดการให้บริการดิจิทัลไอดีซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาที่ทำให้ User บริหารจัดการ ID และข้อมูลส่วนบุคคลของตนได้ดีขึ้น โดย User สามารถควบคุมการใช้งานได้ด้วยตนเอง

(2) ราคาเหมาะสมทุกคนใช้งานได้ โดยการกำหนด Business Model ที่ยั่งยืน เพื่อให้บริการดิจิทัลไอดี สามารถให้บริการกับประชาชนในระยะยาวและยั่งยืนได้ พัฒนาบริการดิจิทัลไอดี โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง (User Centric) ให้การใช้งานดิจิทัลไอดี ของประชาชนสะดวกขึ้น เข้าถึงได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะการออกแบบที่หัวใจของการใช้งาน

(3) ใช้ได้อย่างกว้างขวาง โดยการเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการ ทั้งของ IdP หรือ ผู้ให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ที่มีอยู่เดิม ให้รองรับความต้องการในการใช้งานจำนวนมากขึ้นและปรับให้ RP หรือ ผู้ให้บริการดิจิทัลที่ต้องอาศัยการยืนยันตัวตนจาก IdP ที่มีผู้ใช้งานมากๆ เป็น IdP เมื่อมีความพร้อม เนื่องจากมีฐานข้อมูลการให้บริการ User ที่นำมาช่วยในกระบวนการพิสูจน์และยืนยันตัวตนให้กับ RP รายอื่นๆ ได้ หรือ การนำ FVS มาสนับสนุน IdP ในการพิสูจน์ตัวตนให้สะดวกขึ้น

สร้างความเชื่อมั่นในการใช้งานดิจิทัลไอดี ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เข้าใจ มั่นใจและใช้งานได้ โดยเฉพาะการผลักดันให้ถูกใช้งานอย่างแพร่หลาย ต่อยอดการให้บริการดิจิทัลไอดี ให้ครอบคลุมดิจิทัลไอดี สำหรับนิติบุคคล ชาวต่างชาติ ส่งเสริมให้เกิดการใช้งานดิจิทัลไอดีที่หลากหลาย เกิด Super Use Case ของการใช้งานดิจิทัลไอดี โดยเฉพาะการขับเคลื่อนในช่วงแรกควรให้ความสำคัญกับลักษณะของงานบริการที่มีผู้ใช้บริการวงกว้าง เพื่อให้ประชาชนโดยส่วนใหญ่มี Digital ID ขยายวงกว้างมากขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน